“ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” ในสายตาของนักอักษรศาสตร์

บทความเกี่ยวกับผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ จาก อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ครับ

บทความพิเศษ

โดย…ดร.สุดา รังกุพันธุ์ ,ดร. อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาษาเป็นเรื่องของความเข้าใจ เมื่อใครสักคนเกิดพูดไม่เข้าใจขึ้นมา และไม่ยอมอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจ ผู้ฟังคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องตีความเอาเอง เมื่อตีความ ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะมีทั้งตีความถูก ตีความคลาดเคลื่อน หรือหนักหนาถึงขั้นตีความผิด ครั้นจะห้ามไม่ให้ผู้ฟังตีความเอาเองก็คงห้ามกันไม่ได้

ภาษาหรือคำพูดที่ผู้คนพยายามตีความกันมากที่สุดตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คือ คำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวต่อที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการซึ่งเป็นข้าราชการระดับ 10 ขึ้นไป เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2549 ตลอดเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ในวันนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ พูดหลายเรื่องหลายประเด็น แต่คำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ผู้คนวิพากษ์วิจารณ์กันมากที่สุด และพยายามอย่างยิ่งที่จะตีความมากที่สุด คือ ข้อความที่กล่าวถึง “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” ดังนี้

“วันนี้องค์กรนอกรัฐธรรมนูญไม่ใช่รัฐธรรมนูญ คือ บุคคลซึ่งดูเหมือนมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ เข้ามาวุ่นวายองค์กรที่มีในระบบรัฐธรรมนูญมากไป มีการไม่เคารพกติกา”

ที่ผ่านมา มีทั้งนักกฎหมายและนักการเมืองได้ออกมาตีความข้อความข้างต้นกันมากแล้ว ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักอักษรศาสตร์จึงได้ลองใช้หลักวิชาทางอักษรศาสตร์วิเคราะห์และตีความคำกล่าวข้างต้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ดูบ้าง

ก่อนจะลงมือวิเคราะห์เพื่อถอดรหัสยนัยของ พ.ต.ท.ทักษิณ จำเป็นต้องทำความเข้าใจแก่ผู้อ่านเป็นเบื้องต้นก่อนว่า ภาษาย่อมเป็นเครื่องส่อเจตนาของผู้ใช้ภาษา การสื่อสารที่ดีนั้นผู้พูดต้องพูดเท่าที่ควรพูด พูดแต่ความจริง พูดอยู่ในประเด็น และไม่จงใจใช้คำให้ผู้อื่นเข้าใจผิด

เนื่องจากวันนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรีพูดโดยอาศัยร่างคำพูด ได้เหลือบแลดูร่างคำพูดของตนอยู่เนืองๆ และพูดกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่สำคัญ ได้ถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ด้วย ผู้ฟังจึงสมควรต้องเคารพ พ.ต.ท.ทักษิณ และเชื่อว่า ท่านเป็นผู้พูดที่ดี คือ เนื้อหาที่ท่านพูดทั้งหมดเป็นความจริง และท่านได้เลือกใช้คำโดยรอบคอบแล้ว

คราวนี้ลองมาวิเคราะห์คำพูดปริศนาของท่านรักษาการนายกรัฐมนตรีกัน

1) “ความจริง” และ “สิ่งที่ควรเชื่อ”

เราศรัทธาผู้กล่าวคำพูดข้างต้นโดยสนิทใจ เพราะท่านเป็นถึงรักษาการนายกรัฐมนตรี และควรเชื่อว่า 1.มีบางสิ่งอยู่จริง 2.มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นจริง

“สิ่งที่มีอยู่จริง” คือ มี “ตัวตน” ของ “องค์กรนอกรัฐธรรมนูญ” และ “องค์กรในรัฐธรรมนูญ” อยู่ในประเทศไทย

ส่วน “เหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นจริง” คือ “องค์กรนอกรัฐธรรมนูญเข้ามาวุ่นวายกับองค์กรในรัฐธรรมนูญ” และ “การไม่เคารพกติกา”

อย่างไรก็ตาม คำพูดที่กำลังจะวิเคราะห์นี้อาจทำให้ผู้ฟังงุนงง เพราะมีคำที่คลุมเครืออยู่หลายคำ ดังจะได้ขยายความต่อไป

2) “นอกรัฐธรรมนูญ” กับ “ในรัฐธรรมนูญ”

คำที่คลุมเครืออย่างยิ่งคือคำว่า “นอกรัฐธรรมนูญ”

ในกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ใช้คำว่า “นอกรัฐธรรมนูญ” หรือ “ในรัฐธรรมนูญ” แต่ใช้คำว่า “ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” อยู่หลายครั้ง (ดู รัฐธรรมนูญมาตรา 112, 129)

ข้อความข้างต้น พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้คำว่า “รัฐธรรมนูญ” 3 แห่ง และใช้คำว่า “ระบบรัฐธรรมนูญ” 1 แห่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่น่าจะใช้คำว่า “รัฐธรรมนูญ” ในความหมายว่า “กฎหมายรัฐธรรมนูญ” ตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ แต่คำว่า “รัฐธรรมนูญ” ที่ใช้ลอยๆ คงหมายถึง “ระบบรัฐธรรมนูญ” ตามที่ใช้ในท้ายคำพูดมากกว่า

คำถามต่อไป คือ “ระบบรัฐธรรมนูญ” คืออะไร ?

คำว่า “ระบบรัฐธรรมนูญ” ไม่มีผู้ใช้กันมาก่อน คำที่น่าจะเกี่ยวข้องและใกล้เคียงกัน คือ ระบบการปกครองประชาธิปไตย (ซึ่งอาศัยรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องกำหนดอำนาจหน้าที่และขอบเขตอำนาจขององค์กรทางการเมือง รวมทั้งระบุและรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน) ดังนั้น “ระบบรัฐธรรมนูญ” ตามความหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงน่าจะหมายถึง “ระบบการปกครองประชาธิปไตย” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ระบบการปกครองประชาธิปไตย” ตามการมองโลกหรือตาม “แบบ” ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตามที่สังคมได้ประจักษ์ ระบบดังกล่าวเป็นการปกครองประชาธิปไตยที่เมื่อเลือกตั้งแล้ว พรรคการเมืองพรรคเดียวได้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร และทำให้หัวหน้าพรรคการเมืองนั้นได้ผูกขาดเป็นนายกรัฐมนตรีโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด นั่นเอง

พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้คำว่า “นอก” กับ “ใน” ได้กลมกลืนกันเป็นอย่างดี เพราะหมายถึง นอกระบบ กับในระบบการปกครองประชาธิปไตยแบบทักษิณ เมื่อ พ.ต.ท. ทักษิณ ใช้คำว่า “เข้ามาวุ่นวาย” ยิ่งเห็นภาพได้ชัดเจนว่า มีผู้อยู่ข้างนอกระบบการปกครองประชาธิปไตยแบบทักษิณล่วงอาณาเขตมากระทำบางอย่างต่อระบบการปกครองประชาธิปไตยแบบทักษิณและก่อผลกระทบบางอย่างต่อระบบภายใน ผลคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่สามารถกำหนดให้ประชาธิปไตยเป็นไปตาม “แบบ” ที่ตนปรารถนาได้

3) ต้องการหมายถึง “องค์กร” หรือ “บุคคล” กันแน่ ?

คำที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้แล้วคลุมเครืออย่างยิ่งคือคำว่า “องค์กร” (organization) โดยทั่วไปคำนี้หมายถึง หน่วยงานซึ่งทำหน้าที่เปรียบประดุจเป็นอวัยวะหนึ่งของหน่วยระดับที่ใหญ่กว่า และทำงานร่วมกัน หรือประสานกันกับองค์กรหรือหน่วยงานอื่น ดังนั้น องค์กรจึงควรจะประกอบไปด้วย “บุคคล” จำนวนมากที่ทำงานร่วมกัน แต่ พ.ต.ท. ทักษิณ ใช้คำว่า “คือ” เชื่อมระหว่างคำว่า “องค์กร” กับ “บุคคล” ดังนั้น “องค์กร” ตามความหมายของ พ.ต.ท. ทักษิณ จึงไม่ใช่ “หน่วยงาน” หรือ “บุคคลจำนวนมาก” แต่กลับหมายถึง “บุคคลผู้เดียว”

คำถามที่ไม่อาจเฉลยได้ในที่นี้ คือ “องค์กร” ใดที่ประกอบไปด้วยบุคคลเพียงคนเดียว ?

4) คำว่า “บารมี”

คำว่า “บารมี” (รากศัพท์เดียวกับคำว่า บรม) มีความหมายตามรูปศัพท์ว่า ความสูงสุดความเลิศล้ำ ทางพุทธศาสนาใช้หมายถึง (ก) คุณธรรมเลิศล้ำอย่างที่สุดที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญโดยยากลำบากนานแสนนาน เพื่อให้ขจัดกิเลสได้หมดสิ้น และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แต่ในภาษาไทย คำนี้มีความหมายกว้างออก หมายถึง (ข) คุณความดีหรือคุณสมบัติอื่นที่ทำให้บุคคลเป็นที่รักที่ศรัทธาและเป็นเหตุให้ผู้อื่นเคารพยำเกรง

สังคมไทย เชื่อว่า พระมหากษัตริย์ นอกจากดำรงฐานะเป็นสมมติเทพแล้ว ยังดำรงฐานะเป็นพระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีอีกด้วย
**คำถามที่ไม่มีผู้ใดตอบได้ นอกจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้เดียว คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้คำว่า “บารมี” ตามความหมาย (ก) หรือ (ข) กันแน่ ?

5) “ดูเหมือน” เป็นคำปริศนา ?

ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านใส่ใจว่า ถ้อยคำจริงๆ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้ คำที่ใช้ไม่ใช่คำว่า ผู้มากบารมีนอกรัฐธรรมนูญ ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ บุคคลซึ่งมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ อย่างที่คนทั่วไปมักพูดๆ กัน แต่เป็นคำว่า “บุคคลซึ่งดูเหมือนมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ”

คำว่า “ดูเหมือน” สำคัญเพียงไร ?

คำตอบคือ “สำคัญมาก” หากผู้พูด “จงใจ” ใช้คำนี้

คำว่า “ดูเหมือน” ทำให้เข้าใจว่า ผู้พูดย่อมไม่เชื่อว่า บุคคลที่ตนกำลังพูดพาดพิงถึง เป็นผู้มี “บารมี” อย่างแท้จริง ต่อให้คนทั้งสังคมเชื่อและศรัทธาว่า บุคคลดังกล่าวนั้นเป็นผู้มีบารมีเปี่ยมล้นก็ตาม ดังนั้นคำพูดว่า “บุคคลซึ่งดูเหมือนมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ เข้ามาวุ่นวายองค์กรที่มีในระบบรัฐธรรมนูญมากไป” ส่อเจตนาของผู้พูด 2 ประการ

ประการแรก ขัดใจที่บุคคลดังกล่าวเข้ามามีบทบาทให้ระบบการปกครองประชาธิปไตยตามแบบทักษิณไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างสวยงามตามที่วางแผนไว้

ประการที่ 2 เหยียดบุคคลที่ผู้พูดพาดพิงถึงว่า ใครๆ คิดว่าเป็นผู้มีบารมี แต่ในสายตา พ.ต.ท. ทักษิณ บุคคลผู้นี้ ไม่ได้มีบารมีอย่างที่คนอื่นๆ เข้าใจเลย ดังนั้น ต่อให้บุคคลดังกล่าว พยายามเข้ามามีบทบาทแก้ไขปัญหายุ่งยากตามครรลองที่พึงทำได้ตามอำนาจที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ และก่อผลกระทบต่อ “ระบบรัฐธรรมนูญ” (คือ ระบบการปกครองประชาธิปไตยแบบทักษิณ) ก็จะไม่สามารถเข้ามา “วุ่นวาย” ได้อย่างแท้จริง

ดังนั้น ไม่น่าประหลาดใจเลยที่ในตอนท้ายปาฐกถา พ.ต.ท.ทักษิณ ได้กล่าววาจาอย่างท้าทายว่า “ไม่ต้องรอธงใคร ใครโบกธงมา ข้ามฟากมา ตีธงกลับไปได้เลย ไม่มีความหมาย ธงข้ามฟากไม่มีความหมายนะครับ เพราะฉะนั้นผมขอเรียนท่านว่า ขอให้ยึดหลักประชาธิปไตย ยึดรัฐธรรมนูญ จะมาโบกธงข้ามฟากไม่ได้ ถือว่าทุกอย่างต้องมีกฎมีเกณฑ์มีกติกานะครับ พอแล้ว วุ่นวายมากแล้ว หยุดได้แล้ว หยุดได้แล้วนะครับ”

สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุลฉันใด ภาษาก็ย่อมส่อเจตนา และลิ้นลมคารมความก็ย่อมมัดคอผู้พูดให้ดิ้นไม่หลุดพ้นบ่วงเจตนาบ่วงกรรมฉันนั้นแล

ที่มา: http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9490000090322&Keyword=%cd%b9%d1%b9%b5%ec

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *