แสงแรกในยามเช้า

จะมีสักกี่ครั้งที่คนเราได้ใช้เวลาในช่วงเช้า ยืนท่ามกลางความมืด เฝ้ารอคอยความสว่างจากดวงอาทิตย์ ที่ค่อยๆ ส่งแสงเรืองรองออกมาจากขอบฟ้าข้างหน้า

จากความมืดมิด ขอบฟ้าก็เป็นสีขาว แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพูและแดงขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลาที่หมุนผ่านไป ในช่วงเวลานั้นบางคนอาจจะเฝ้ารอคอยแต่ดวงอาทิตย์ เพราะอยากเห็นสีแดงสดใสของดวงอาทิตย์ในยามเช้า

แต่หากมองดูดีๆ ก่อนที่ดวงอาทิตย์โผล่จะพ้นขอบฟ้านั้น ความงามของธรรมชาติได้ปรากฎให้เราเห็นตั้งแต่แสงแรกที่ขอบฟ้าแล้ว

DSC_1345

เว็บไซต์นี้เป็นเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม?

Cyber Clean?

ถ้าคุณเปิดเว็บไซต์ของตัวเองแล้วพบว่าถูกปิดกั้นโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปรากฎเป็นหน้าจอสีเขียว มีรูปดวงตาที่มีสัญลักษณ์ของกระทรวงอยู่ข้างใน (เหมือนจะบอกว่า เราจับตาดูคุณอยู่นะ)  แบบทางด้านบนเนี่ยจะทำยังไงครับ

ผมเดาเอาว่า คุณน่าจะงงเหมือนๆ ผม และคิดในใจว่า นี่มันอะไรกันเนี่ย?

เมื่อลองสำรวจดู ผมพบว่าเว็บของผมที่เข้าไม่ได้นั้น ใช้บริการ URL redirect ของบริษัทผู้รับบริการทดทะเบียนโดเมนเนม (Enom) ซึ่งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา 

ลักษณะของการทำ URL redirect นี้ มีแทบทุกในบริษัทผู้รับจดโดเมนเนม (Registrar) ซึ่ง Enom ก็เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการในลักษณะนี้  การทำ URL redirect นั้น บ. Enom ได้ตั้งเซิร์ฟเวอร์ขึ้นมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ  และเมื่อเวลามีผู้เปิดเว็บที่เป็น URL redirect ก็จะมีการเรียกดูข้อมูลที่เซิร์ฟเวอร์นี้  ก่อนที่บราวเซอร์จะถูกส่งต่อไปยังเว็บไซต์ปลายทางอีกทีหนึ่ง

Enom VS CyberClean

จากรูป ก็จะเห็นว่ามีอยู่ 3 ขั้นตอนหลังจากที่ผู้ใช้พิมพ์ URL ที่จะถูก redirect ลงไป คือ

  1. บราวเซอร์ติดต่อไปยัง Enom URL Redirect Server
  2. Enom แจ้งเว็บปลายทางกลับมา
  3. บราวเซอร์ติดต่อไปยังเว็บปลายทาง

ผมคาดเดาเอาว่าคงมีผู้จดโดเมนบางคน ใช้บริการของ URL redirect  ของ Enom กับเว็บต้องห้ามของตัวเอง  ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่บล็อกเว็บคงต้องการตัดไฟแต่ต้นลม (หรือในอีกแง่คิดหนึ่ง – มันทำง่ายดี)  ก็เลยบล็อกขั้นตอนที่ 1 ซะ คือไม่ให้ติดต่อกับ Enom URL redirect server

enom-vs-cyberclean2.jpg

การทำแบบนี้หมายความว่า จะไม่สามารถใช้บริการ URL redirect ของ Enom ได้เลย  ดั้งนั้นหากเราไม่ทราบเว็บไซต์ปลายทางจริงๆ ก็จะไม่สามารถเรียกดูได้  ไม่ว่าเว็บนั้นจะต้องห้ามหรือไม่ก็ตาม

ผมไม่รู้ว่ากระทรวงฯ ใช้วิธีนี้กับ registrar เจ้าอื่นๆ ด้วยหรือเปล่า  เพราะเจอแค่นี้ก็พูดไม่ออกแล้ว 

เรื่องนี้อาจจะไม่ถือเป็นปัญหา  เพราะ URL redirect แบบนี้อาจจะมีใช้กันไม่มากนัก  แต่ผู้บริโภคบางคนก็เสียตังค์จ่ายเงินใช้บริการไปแล้ว ก็อยากใช้ feature ต่างๆ ให้ครบถ้วนเหมือนกัน

อย่างนี้ต้องโทษใคร? คนที่ทะลึ่งทำเว็บต้องห้ามจนทำให้เกิดปัญหานี้  หรือ วิธีการแก้ปัญหาง่ายๆ ของเจ้าหน้าที่ครับ? 😐

ปล. ผมไม่เดือดร้อนมากนัก แต่ได้กรอกแบบฟอร์มแจ้งไม่ให้ปิดกั้น (ซึ่งหายากหน่อยเพราะเอาไปแอบๆ ไว้ในแบบฟอร์มแจ้งบล็อกเว็บ)  อย่างไรก็ตามผมคาดเดาผลลัพธ์ไว้ในใจแล้วละครับ

กลิ่นความรัก

ถ้าคุณสามารถได้กลิ่นไอของความรัก และคุณเดินเข้ามาให้มหาวิทยาลัย หรือที่ไหนๆ ที่มีหนุ่มสาวรวมกลุ่มกันอยู่ คุณจะพบว่ามีกลิ่นของความรักตลบอบอวลไปทั่ว เนื่องด้วยระยะห่างที่เกิดขึ้นในช่วงปิดเทอมสำหรับบางคู่ หรืออีกนัยหนึ่งคือเมื่อกลับมาอยู่ที่หอพักแล้ว ห่างไกลจากสายตาของพ่อแม่ผู้ปกครอง ก็เลยสามารถทำอะไรได้ตามที่ต้องการ ภาพของการเคล้าคลอเคลีย โอบกอด จูงไม้จูงมือ ก็มีให้เห็นไปทั่วจนชินตาสำหรับผม

แต่ในบางครั้งความรักไม่ได้ทำให้ตาบอดเพียงอย่างเดียว ยังทำให้โสตประสาทอื่นๆ ของร่างกายทำงานผิดพลาดไปด้วย การรับรู้ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมถูกตัดขาดลง โลกทั้งใบดูเหมือนจะเหลือแต่เราสองคน

ที่เขียนมาข้างต้น ไม่ใช่อะไรหรอกครับ เพราะว่าในช่วงเวลานี้ผมจะต้องระมัดระวังในการขับรถในมหาวิทยาลัย อย่างเช่นเมื่อวานนี้เกือบชนลูกสาวและลูกชายของใครก็ไม่ทราบ เขาทั้งสองนั่งรถป๊อบคันเล็กๆ ผู้ชายเป็นคนขับโดยโอบกอดผู้หญิงที่นั่งตรงกลาง ขณะนั้นผมขับรถกำลังจะเร่งแซงเขาทั้งสองไป แต่แล้วผมก็ต้องเบรคอย่างแรงจนกล่องข้าวที่ซื้อมากระเด็นตกลงไปกลิ้งอยู่ที่พื้น ดีที่กล่องไม่เปิดออก ไม่อย่างนั้นผมคงต้องนั่งกินข้าวจากถุงพลาสติกเป็นแน่

สาเหตุที่ผมต้องเบรคหัวทิ่ม เพราะเขาต้องการจะกลับรถและเขาก็ทำมันทันที ผมหยุดและเขาก็หยุด ผมมองไปด้วยความเซ็ง พูดอะไรไม่ออก นึกอยากจะด่าออกไป แต่ก็ไม่รู้จะพูดอะไร ผมนั่งนิ่งและรอจนกระทั่งเขากลับรถผ่านผมไป แล้วผมจึงเคลื่อนรถต่อ

บอกแล้วไงครับว่า ความรักไม่ได้ทำให้คนตาบอดเพียงอย่างเดียว ยังทำให้โสตประสาทส่วนอื่นๆ ทำงานผิดพลาด จนทำให้บางครั้งเกือบตายด้วย

เรื่องธรรมดาๆ

มีเรื่องธรรมดาๆ ที่ผมเพิ่งเจอภายใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา…

เรื่องแรกก็คือ หลังจากกลับจากทานอาหารเย็นซึ่งเป็นเวลาประมาณ 2 ทุ่ม ผมกับอาจารย์อีก 4 ท่านก็เดินกลับไปที่ตึกทำงาน ระหว่างทางเราผ่านรถยนต์คนนึงที่จอดและเปิดไฟหน้าทิ้งไว้ พอเราเดินเข้าไปใกล้และมองเข้าไปในรถ ก็พบนักศึกษาชายหญิงคู่หนึ่งกำลังจูบกันอย่างดูดดื่ม โดยไม่สนใจเราที่เดินผ่านไปมา ซึ่งจริงๆ แล้วบริเวณที่รถจอดอยู่นั้นเป็นบริเวณที่มีคนผ่านไปมา แล้วถ้าหากเลื่อนไปอีกนิด ก็จะเป็นถนนที่ไม่มีคนพลุกพล่านเลย แต่ท่าทางทั้งคู่จะอดใจไม่ไหว
Kiss me!

เรื่องที่สองก็คล้ายๆ กับเรื่องแรก เกิดเมื่อวานซืนนี้เองหลังจากกลับจากทานอาหารเย็นอีกเช่นกัน ช่วงนั้นฝนกำลังตกปรอยๆ มีชายหญิงคู่หนึ่งยืนกางร่มหันหน้าเข้าหากันและจูบกัน ซึ่งเป็นบริเวณที่รถที่ยูเทิร์นบริเวณนั้นทุกคันจะต้องส่องไฟผ่านไปเห็นเข้า

ไม่ใช่ว่าผมไม่รู้ว่ามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น เรื่องคู่สามีภรรยานักศึกษา เรื่องกิจกรรมยามดึกในรถยนต์ก็มีให้เห็นมาตั้งแต่ผมเริ่มมาทำงานที่นี่ใหม่ๆ แต่หลังจากที่เจอเหตุการณ์คล้ายๆ กันภายในสองสัปดาห์ ในบริเวณที่คนพลุกพล่าน ผมก็ชักไม่แน่ใจว่า อะไรๆ ในปัจจุบันมันเปลี่ยนแปลงไปขนาดนี้แล้วหรือ? หรือว่าผมพลาดอะไรบางอย่างไป…

หรือในอนาคตมันจะเป็นเรื่องธรรมดาที่คนในรุ่นต่อไปจะยืนกอดจูบกันได้อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ โดยไม่สนใจคนอื่นที่ผ่านไปมา

…มันคงเป็นเรื่องธรรมดากระมังครับ…

นกกระจิบทุ่ง

วันนี้ขอโพสภาพแถมอีกนิด ผมถ่ายรูปนกตัวนี้ได้โดยไม่ได้ตั้งใจ อยู่ดีๆ เขาก็บินมาเกาะอยู่ข้างหน้า เป็นนอกอะไรผมดูไม่ออก เอาไว้ถามผู้รู้ได้แล้วจะมาโพสชื่ออีกทีครับ

ถามชื่อมาแล้วครับ นกตัวนี้คือ นกกระจิบทุ่ง ครับ

ละเมิดสัญญากับ online journal (2)

เมื่อสักประมาณเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ที่นักศึกษาดาวน์โหลดเอกสารทางวิชาการ (paper) จำนวนมากจากฐานข้อมูลออนไลน์ ASCE journal ที่ผมเคยเขียนไว้ในตอนผิดสัญญากับ Online journal

หลังจากสืบจนพบว่ามาจากเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องไหน และใครเป็นคนใช้งาน ก็พบว่าเป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของภาควิชาหนึ่ง ซึ่งในท้ายที่สุดก็ถูกภาควิชาทำทัณฑ์บนพร้อมทั้งระงับการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต 2 เดือน ในส่วนของศูนย์คอมพิวเตอร์เองก็ได้รีบออกหนังสือแจ้งเตือนไปยังทุกภาควิชา เพื่อให้กำชับนักศึกษาในสังกัดของตนเอง โดยเฉพาะนักศึกษาในระดับบัญฑิตศึกษา ซึ่งผมก็เป็นกังวลอยู่ว่าภาควิชาจะให้ความสำคัญแก่เรื่องนี้มากแค่ไหนกัน

แล้วความกังวลของผมก็เป็นจริง เมื่อหลังจากนั้นอีกแค่เดือนกว่าๆ ในสัปดาห์ที่แล้วหอสมุดได้แจ้งมาว่า ได้มีผู้ดาวโหลดเอกสารวิชาการจาก Science Direct จำนวน 1000 ไฟล์ภายในระยะเวลา 45 นาทีของช่วงเวลาตี 4 กว่าๆ โดยทาง Science Direct ต้องการให้ทางหอสมุดดำเนินการตรวจสอบ หากพบว่าเป็นการหากละเมิดข้อตกลง ขอให้แจ้งให้ผู้ละเมิดหยุดการกระทำดังกล่าว และทาง Science Direct มีสิทธิ์ที่จะยกเลิกการให้บริการกับมหาวิทยาลัย

จาก IP Address ที่ปรากฎและช่วงเวลาทำให้สามารถระบุได้ว่ามาจากภาควิชาใดและน่าจะเป็นนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาอีกเช่นกัน จากการสอบถามนักศึกษาพบว่านักศึกษายังไม่ได้รับทราบเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ และไม่ได้รับแจ้งเตือนจากภาควิชาในเรื่องของการดาวน์โหลดเอกสาร

นักศึกษาคนนี้ใช้โปรแกรมช่วยดาวน์โหลดเอกสาร ทำให้ดาวน์โหลดได้จำนวน 1000 ฉบับมาภายใน 45 นาที นักศึกษาต้องการดาวน์โหลดมาเพื่อนำมาใช้อ่านในภายหลัง ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าจะทำแบบนั้นทำไม เพราะนักศึกษาก็สามารถทำการดาวน์โหลดได้ตลอดเวลาที่ต้องการอยู่แล้ว ขณะนี้นักศึกษาท่านนี้กำลังอยู่ในระหว่างถูกสอบสวนโดยภาควิชาต้นสังกัด

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่านักศึกษาไม่ทราบ หรือไม่ได้มีความตระหนักเลยถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของเขา โดยไม่สนใจว่าการกระทำดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับใครบ้าง เรียกได้ว่าไม่มีสามัญสำนึกในการใช้เครือข่าย อาจจะเป็นเพราะว่าใช้งานง่าย ใช้งานสะดวก จนทำให้นึกว่าตนเองจะทำอะไรก็ได้

เร็วๆ นี้อีกเช่นกัน ผมพบว่าห้องปฏิบัติการโครงงานที่ผมเดินผ่านมักจะมีนักศึกษาคนหนึ่งนั่งใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ประจำ คอมพิวเตอร์เครื่องนี้วางติดกับกระจกบริเวณทางเดิม เมื่อมองเขาไปจะเห็นด้านหลังเครื่อง แต่จะไม่ทราบว่านักศึกษาทำอะไรอยู่ หากมองในแง่ดีก็คิดว่านักศึกษาคงนั่งหาข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในโครงงานของตัวเอง แต่ก็มีความสงสัยอยู่ในใจว่าจริงหรือไม่?

ในวันสุดสัปดาห์ทีผ่านมาผมและอาจารย์อีกท่านก็เดินเข้าไปสำรวจในห้องปฏิบัติการ แล้วก็พบว่าเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ได้ถูกเปิดทิ้งไว้ เมื่อตรวจสอบดูก็พบว่านักศึกษารันโปรแกรม P2P ที่ใช้สำหรับดาวน์โหลดไฟล์ทิ้งไว้ และไฟล์ที่ดาวน์โหลดก็เป็นพวกหนังอย่างว่าทั้งนั้น ผมกับอาจารย์ท่านนั้นมองหน้ากันแล้วก็หัวเราะ พร้อมกับพูดว่า “นึกแล้วเชียว”

เหตุการณ์พวกดาวน์โหลดไฟล์ต้องห้ามต่างๆ นั้นไม่ใช่เรื่องแปลก และพบได้ทุกที่ แต่ที่น่าเจ็บใจคือ นักศึกษาทำต่อหน้าอาจารย์ที่เดินผ่านไปผ่านมาในระยะห่างไม่เกิน 2 เมตร ที่มีเพียงกระจกใสๆ กั้น

คณะฯ เองก็มีนโยบายการให้บริการเครือข่าย แต่นโยบายนี้ดูเหมือนจะไม่ได้รับความสนใจจากสมาชิกต่างๆ เท่าไหร่นัก นโยบายอาจจะมีบทบาทสำคัญเมื่อผู้ใช้คนใดคนหนึ่งละเมิดระเบียบและก่อให้เกิดความเสียหาย ถ้าไม่อยากให้นโยบายเป็นเพียงไม้กันหมา ผู้บริหารก็คงต้องบังคับใช้อย่างจริงจังต่อไป

ทำอะไรอยู่เหรอ?

What are you doing?

ก่อนกลับที่พัก ผมเอากล้องออกมาลองถ่ายภาพเล่นๆ แก้เบื่อ
ในระหว่างที่ลองถ่ายโน่นถ่ายนี่ไปเรื่อย ก็ได้ยินเสียงเห่ามาแต่ไกล
แล้วหมาตัวนี้ก็ค่อยๆ เดินเข้ามาด้อมๆ มองๆ ด้วยความสงสัยว่าผมทำอะไรดึกๆ ดื่นๆ
มันยืนมองอยู่ห่างๆ กล้าๆ กลัวๆ อยู่พักใหญ่ ผมเลยถือว่ามันเป็นนายแบบซะ
ช่วงนี้วุ่นๆ ไม่ได้ออกไปถ่ายรูปเลย ฝีมือคงไม่พัฒนา

ละเมิดสัญญากับ online journal

Journal ที่ว่าคือ ASCE online journal … เปล่านะ ผมไม่ได้เป็นคนทำผิดสัญญา แต่เป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาคนหนึ่ง ที่อยู่ดีๆ ก็ดันทะลึ่งดาวน์โหลด paper มาอ่านกว่า 250 ฉบับในครั้งแรก และยังดาวน์โหลดอีกประมาณ 200 กว่าฉบับเป็นครั้งที่ 2

ในครั้งแรกหลังจากทาง journal ตรวจพบก็ทำการบล็อกไม่ให้เข้าไปดาวน์โหลดได้ แล้วก็แจ้งบรรณารักษ์ของห้องสมุดที่เป็นสมาชิก ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย ศูนย์คอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย และแจ้งมาที่คณะให้ตรวจสอบหาคนที่ดาวน์โหลดไฟล์ ซึ่งผมก็ได้ส่ง mailing list แจ้งให้อาจารย์ในคณะทุกท่านทราบ พร้อมทั้งกำชับให้แจ้งนักศึกษาให้ทราบด้วย ข้อมูลที่ได้รับมาจากศูนย์คอมของมหาวิทยาลัยยังคลุมเครือไม่ชัดเจน ทำให้ตรวจสอบไม่ได้ (งงว่าทำไมไม่รีบดูจาก log file ของ proxy ก็ไม่รู้) แต่หลังจากนั้นอีก 2-3 วัน

พี่แกก็ดาวน์โหลดอีกครั้ง

คราวนี้เป็นเรื่องเป็นราว ผมตัดสินใจบล็อกไม่ให้ user ใช้ proxy ของมหาวิทยาลัยได้โดยตรง ต้องผ่าน proxy ของคณะก่อน เพื่อจะได้ทำการตรวจสอบได้ทันทีที่เกิดเรื่อง เวลาผ่านมาประมาณ 1-2 วัน ถึงจะพบเจ้าตัวแสบ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจำนนด้วยหลักฐานหรือไม่ นอกจากนี้คนอื่นก็ยังสงสัยว่าพี่แกจะโหลดไปทำไมมากมายขนาดนั้น

ผลกระทบที่เกิดขึ้น มันมากกว่าที่คิด เพราะโดนทาง journal ต่อว่า และขู่ว่าจะบล็อกต่อไปหากไม่รีบดำเนินการ คณะเองก็เสียชื่อ และต้องทำหนังสือออกไปขอโทษสถาบันที่สมัครสมาชิก ผมเองก็เสียเวลาในการตรวจสอบ ดำเนินการต่างๆ งานอื่นๆ โดนกระทบไปด้วย เพราะคนๆ เดียวที่ไม่รู้จักคิด ต้องทำให้คนอีกหลายๆ คนต้องเดือดร้อน เจ้าตัวจะรู้หรือเปล่าว่าตัวเองทำอะไรลงไป 🙁

ผมจะใช้เหตุการณ์นี้เป็นโอกาส กระตุ้นให้ทุกคนมีความระมัดระวังในการใช้เน็ตเวิร์ค ต้องปฏิบัติตามนโยบายการใช้งานเครือข่ายต่อไป

Postfix ป่วน

อันนี้

May 2 23:00:55 edio postfix/smtp[9460]: D2E232AF9F: to=<abc @def.com>, relay=mail.def.com[xxx.xxx.xxx.xxx], delay=6, status=sent (250 Ok, message saved)

กับอันนี้

May 2 23:08:36 edio postfix/smtp[2878]: 11E6D2AF9F: to=<abc @def.com>, relay=mail.def.com[xxx.xxx.xxx.xxx], delay=4, status=sent (250 OK id=1DSdTH-0006so-AO)

ไม่เหมือนกัน เพราะอันแรก ส่งเมล์ออกไปไม่ได้ ส่วนอันที่สองส่งออกไปได้ … ทำไมหนอ?