13 Numbers

ยังไม่ทันไรก็มีข่าวจากประชาไทแจ้งว่า เว็บบอร์ดและบล็อกนั้นไม่จำเป็นต้องจัดเก็บหมายเลขประจำตัวประชาชนของผู้ใช้บริการแล้ว   ก็เป็นอันว่าความพยายามที่จะฝืนธรรมชาติอย่างหนึ่งของอินเทอร์เน็ตก็หมดสิ้นลง  พร้อมๆ กับการดำรงอยู่ต่อไปของ บุคคลนิรนาม ตามเว็บบอร์ดและสถานที่ต่างๆ  

นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณี “ประกาศรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. 2550” ที่จะออกมาเป็นกฎหมายเสริมพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 อันจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 18 ก.ค. ที่จะถึงนี้ว่า

กรณีที่ก่อนหน้านี้ ในร่างของประกาศฯ (ฉบับปรับปรุงเมื่อวันที่ 4 ก. ค.) เขียนไว้ว่า กรณีเว็บบอร์ดและเว็บบล็อกนั้น ผู้ให้บริการต้องเก็บข้อมูลทั้ง ชื่อ สกุล รหัสประจำตัวประชาชนของผู้ใช้บริการ และ/หรือ เลขบัญชีธนาคาร และ/หรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการชำระเงิน เช่น เลขบัญชีธนาคาร เลขบัตรเครดิต

ล่าสุด เนื้อหาดังกล่าวมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาแล้ว โดยยกเลิกการเก็บข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชน คงเหลือเพียงหมายเลขไอพีแอดเดรส และวันเวลาที่ผู้ใช้บริการเข้าถึงเท่านั้น ในกรณีเว็บไซต์ทางการค้านั้น อาจจะยังคงให้กรอกหมายเลขบัตรเครดิต

สมมตินะครับ  สมมติว่าแท้จริงแล้ว  เรื่องนี้เกิดจากเจ้าหน้าที่บางคน/บางกลุ่มได้แก้ไขเพิ่มเติมร่างประกาศการเก็บข้อมูลนี้ให้เป็นไปอย่างที่ตนต้องการ โดยไม่สนใจเสียงทัดทานจากคณะกรรมการที่เป็นผู้พิจารณาร่างประกาศฉบับนี้  ซึ่งแม้ว่าความพยายามนี้จะไม่บรรลุผล  แต่บุคคลผู้นี้/กลุ่มนี้และความพยายามที่จะควบคุมเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของประเทศก็ยังคงอยู่   การกระทำครั้งนี้อาจจะเปรียบเหมือนโยนหินถามทาง และฉวยโอกาสอาศัยช่วงจังหวะระยะเวลาทีเผลอของชาวเน็ต  ทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ

ความพยายามนี้จะมีขึ้นอีกในอนาคตหรือไม่  ก็ต้องเฝ้าคอยติดตามเรื่องสมมตินี้ต่อไป  เพราะเราสามารถสร้างเรื่องสมมติให้เป็นจริงได้เสมอ  🙄

ขอหมายเลขบัตรประชาชนด้วยครับ!

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ (PDF file)ได้ผ่านการลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และจะมีผลบังคับใช้วันที่ 18 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ และเพื่อให้ พรบ.ว่าด้วยการกระทำผิดฯ นี้สมบูรณ์กระทรวงไอทีซีก็กำลัง*ร่าง*ประกาศหลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งถือเป็นกฎหมายเสริมที่ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าจะต้องเก็บข้อมูลอะไร อย่างไรบ้าง สำหรับร่างประกาศหลักเกณฑ์นี้อ่านได้ที่นี่ครับ

แล้วทั้ง พรบ. และ ประกาศหลักเกณฑ์นี้เกี่ยวข้องกับเราๆ ท่านๆ แค่ไหนกัน? ลองอ่านได้จากที่เว็บประชาไทในข่าว “รายงาน จับตา ไอซีที : ออก กม.ลูก บังคับเก็บประวัติคนเล่นเน็ต เลข 13 หลัก เลขบัญชี เลขบัตรเครดิต

…แม้การผลักดันพ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ถูกดันเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่การออกประกาศ/กฎกระทรวงที่ต้องนำมาใช้เคียงคู่กัน กลับเป็นความเคลื่อนไหวอันเงียบกริบ ไม่มีการประชาพิจารณ์ หรือแม้วงเสวนาที่ให้สาธารณะชนเข้าถึง ทั้งที่รายละเอียดที่ถูกกล่าวถึงในประกาศ/กฎกระทรวง คือสิ่งที่จะกระทบต่อประชาชนโดยตรง  และที่สำคัญและน่าวิตกคือ ประกาศ/กฎกระทรวงเหล่านี้ ต้องคลอดออกมาให้ทันวันที่ 18 ก.ค. 50 ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มีผลบังคับใช้…


เก็บทุกเม็ด ไม่เว้นเลข 13 หลัก บัญชีธนาคาร เลขบัตรเครดิต

ผู้ให้บริการ จะต้องเก็บข้อมูลหลายอย่าง ตั้งแต่ ชื่อประจำตัว (Username) ที่อยู่จดหมายอิเล็คทรอนิคส์ (email) หมายเลขที่อยู่บนอินเตอร์เน็ต (IP Address)  ร่างประกาศที่เตรียมจะประกาศใช้ยังระบุว่า กรณีเวบบอร์ดและเวบบล็อกนั้น ผู้ให้บริการต้องเก็บข้อมูลทั้ง ชื่อ สกุล รหัสประจำตัวประชาชนของผู้ใช้บริการ และ/หรือ เลขบัญชีธนาคาร และ/หรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการชำระเงิน เช่น เลขบัญชีธนาคาร เลขบัตรเครดิต

ข่าวจากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ เรื่อง “ชำแหละร่างประกาศไอซีที กฎหมายลูก พ.ร.บ. กระทำผิดคอมพ์” 


ซึ่งหากพิจารณาจากประกาศข้อดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่าประกาศดังกล่าว มีผลต่อมีผลวงกว้างมาก เพราะผู้ให้บริการจะครอบคลุมตั้งแต่ร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ โรงเรียน องค์กร ห้างร้าน หรือแม้กระทั่งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่มีคอมพิวเตอร์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ผู้ให้บริการเว็บไซต์ ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต และผู้ให้บริการโทรคมนาคม
 

นอกจากนี้ในประกาศข้อ 6 ระบุถึงข้อมูลที่ผู้ให้บริการจะต้องทำการจัดเก็บ ซึ่งจะครอบคลุมข้อมูลที่สามารถระบุและติดตามถึงแหล่งกำเนิด ต้นทาง และ ปลายทาง ของการติดต่อสื่อสารถึงกันผ่านระบบคอมพิวเตอร์ หรือการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ รวมถึงข้อมูลที่สามารถระบุพฤติกรรมการติดต่อสื่อสารถึงกันด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต อาทิ วันที่ เวลา ปริมาณการติดต่อ และระยะเวลาการติดต่อ

เช่นเดียวกับประกาศข้อ 7 ที่ระบุว่าการเก็บข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ ตามประกาศข้อ 6 นั้นต้องสามารถระบุผู้ใช้บริการเป็นรายบุคคลได้ อาทิ ลักษณะการใช้บริการ Proxy Server , Network Address Translation (NAT) หรือ Proxy Cache หรือ Cache Engine หรือ บริการฟรีอินเตอร์เน็ต อาทิ บริการ 1222 ที่ต้องสามารถระบบตัวตนผู้ใช้บริการเป็นรายบุคคลได้ ไม่ใช่ผู้ร่วมใช้บริการ

ดูเหมือนว่ากระทรวงไอซีทีมีความต้องการที่ให้ผู้ให้บริการต้องสามารถระบุและยืนยันตัวบุคคล (Identification and Authentication) ของผู้ใช้บริการให้ได้  แม้คุณจะเป็นเพียงแค่ผู้เช่าพื้นที่ทำเว็บเพจและมีเว็บบอร์ดหรือบล็อกส่วนตัวเล็กๆ  คุณก็จะต้องสามารถบอกได้ว่าผู้ใช้บริการที่มาโพสข้อความนั่นเป็นใคร  เพราะประกาศหลักเกณฑ์นี้กำหนดให้ต้องมีวิธีการระบุและยืนยันตัวบุคคลของผู้ใช้บริการด้วย (ตามประกาศข้อ ๘)

8.gif

ดังนั้นหากเกิดกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามพรบ.นี้ ร้องขอให้แจ้งรายละเอียดของผู้ใช้บริการที่โพสข้อความใดข้อความหนึ่ง  และผู้ให้บริการก็จะต้องให้ข้อมูลได้ว่าชื่อ นามสกุล และรหัสประจำตัวประชาชนคืออะไร   หากผู้ให้บริการไม่สามารถให้ข้อมูลได้ก็แปลว่าทำผิด พรบ. ในมาตรา 26 ซึ่งต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท

หากประกาศหลักเกณฑ์ฯ นี้ได้ถูกนำมาประกาศใช้จริง แล้วจะมีผลกระทบกับใครบ้าง?  อันดับแรกก็คงจะเป็นผู้ให้บริการซึ่งในประกาศหลักเกณฑ์ฯ นั้นได้แจกแจงไว้อย่างละเอียด  ดังนั้นไม่ว่าคุณจะให้บริการอะไรยังไงคุณก็จะต้องเข้าข่ายผู้ให้บริการไม่ประเภทใดก็ประเภทหนึ่ง  ซึ่งก็จะต้องปรับปรุงให้ระบบคอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์ หรือเว็บไซต์ของคุณทำการจัดเก็บข้อมูลให้ได้อย่างที่ประกาศนี้ต้องการ

ผู้ที่จะได้รับผลกระทบอันดับที่สองก็คือผู้ใช้บริการนั่นเอง  เมื่อผู้ใช้บริการต้องการที่จะโพสข้อความใดๆ ไม่ว่าจะในเว็บบอร์ดหรือในบล็อก  ผู้ใช้บริการก็จะต้องระบุหมายเลขประจำตัวประชาชนของตนเองด้วย  นอกเสียจากว่าคุณจะเป็นผู้ใช้บริการที่ไม่เคยโพสข้อความอะไรที่ไหนเลย   คุณก็อาจจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

appendix-b_portal1.gif

appendix-b_portal2.gif

จากประกาศข้างบน หากคุณมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง  คุณน่าจะทำถูกกฏหมายที่สุดหากคุณทำเว็บไซต์ประเภทนำเสนอข้อมูลอย่างเดียว  โดยจะต้องไม่มีส่วนไหนที่ยอมให้ผู้ใช้บริการเขียนข้อความโต้ตอบแสดงความคิดเห็นใดๆ  ห้ามมีเว็บบอร์ด  หากทำบล็อกก็จะต้องไม่ให้คนอ่านโพสข้อความโต้ตอบอะไรเลย  หรือหากจะคุยกันก็ต้องใช้วิธีแอบหลบๆ ซ่อนๆ อย่าให้ใครรู้เชียว

ผู้ให้บริการเว็บบอร์ดและผู้มีบล็อกทั้งหลายก็คงจะต้องแจ้งผู้ใช้บริการให้เพิ่มข้อมูลชื่อและนามสกุล และหมายเลขประจำตัวประชาชน เข้าไปในระบบเสีย  โดยต้องขอร้องให้ป้อนข้อมูลที่เป็นจริง  เพราะตอนนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะไปตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องที่ผู้ใช้บริการป้อนมาได้อย่างไร (คิดว่าคนที่ร่างประกาศคงทำระบบตรวจสอบเอาไว้พร้อมแล้วกระมัง  พอบังคับใช้คงจะเปิดให้ใช้ระบบนี้ได้เลยทันที 🙄 )  

ทั้งนี้หากซีเรียสมากก็คงจะต้องงดให้บริการไปสักระยะ แล้วแจ้งให้ผู้ใช้สำเนาบัตรประชาชนส่งมาให้ทางจดหมาย  หรืออาจจะประกาศแช่งให้มีอันเป็นไปหากให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ   สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ควรจะเลิกคุยกับคนต่างชาติเสีย  เพราะอาจจะยุ่งยากในการยืนยันตัวบุคคล  ซึ่งผลกระทบที่ในส่วนนี้อาจทำให้ต้องปิดบริการ newsgroup ที่มีอยู่ทั้งหมด 

หากเว็บบอร์ดหรือบล็อกไม่สามารถรองรับหมายเลขบัตรประชาชนได้  อย่างเช่น wordpress ก็คงจะต้องทำ plug in เข้ามาเพิ่ม  หรืออาจจะลองติดต่อผู้พัฒนาให้ทำฟิลด์ที่ใช้เก็บหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลักสำหรับคนไทยเพิ่มขึ้นมาเป็นพิเศษ   อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ ประกาศนี้กำหนดให้ต้องเก็บข้อมูลนี้ไว้บนเว็บไซต์หรือบนเครือข่ายเท่านั้น  ไม่สามารถทำการจัดเก็บไว้เป็นแบบ offline ได้  เดาว่าเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเรียกดูข้อมูลของเจ้าหน้าที่

ผมลองคิดเล่นๆ ว่าข้อดีของประกาศหลักเกณฑ์ฯ นี้มีอะไรบ้าง

  • คนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ตบ่อยจะสามารถจำเลขบัตรประชาชน 13 หลักของตัวเองได้อย่างขึ้นใจ
  • เครือข่ายอินเทอร์เน็ตประเทศไทยจะโปร่งใสชัดเจนมาก ใครโพสข้อความอะไรก็สืบรู้ได้หมด ดังนั้นประเทศไทยจะปราศจากซึ่งบุคคลนิรนาม (Anonymous)  ผู้ดูแล ftp server ต่างๆ ต้องรีบยกเลิก anoymous user เสีย 
  • ความสุขมวลรวมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะสูงขึ้น เพราะทุกคนจะพูดจาภาษาดอกไม้  ไพเราะน่าฟัง  ทำให้สามัคคีกัน รักกันมากขึ้น 
  • ประหยัดงบประมาณในการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัย เพราะเครือข่ายปลอดภัยดีแล้วไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม  เนื่องจาก hacker ทั้งในและต่างประเทศกลัว พรบ. นี้กันไปหมดทั้งโลก 
  • การวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้ใช้งานเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจะได้ผลมาก  เพราะเรามีข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่ครบถ้วนและละเอียดที่สุดในโลก
  • คนไทยจะคุยกันเองมากขึ้น ทำงานร่วมกันมากขึ้น ไม่พึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ  วัฒนธรรมไทยจะยังคงอยู่สืบไป  เพราะหลังจากนี้ต่างชาติจะสื่อสารกับเราได้ลำบากมาก  เนื่องจากความยากลำบากในขั้นตอนการติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
  • พนักงานเจ้าหน้าที่ทำงานง่ายขึ้น  เพราะไม่ต้องลงทุนทำอะไรเพิ่มเติม เพียงแค่กฎหมายนี้บังคับใช้ ภาระการดำเนินการต่างๆ ก็จะตกไปอยู่กับผู้ให้บริการทั้งสิ้น

แล้วข้อเสียของประกาศหลักเกณฑ์ฯ นี้มีอะไรบ้าง

  • ไม่น่าจะมี  เพราะหลักเกณฑ์นี้น่าจะผ่านการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนว่าดีที่สุดต่อประเทศชาติแล้ว  จะเห็นได้ว่าไม่มีความจำเป็นต้องผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของประชาชน  ดังนั้นผู้ใช้บริการจึงไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น  🙄

ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

ในเมื่อกระทรวงต้องการให้มีการจัดเก็บข้อมูลที่ละเอียดยิบเช่นนี้  ในขั้นตอนถัดไปก็ควรออกดำเนินการจัดทำเซิร์ฟเวอร์แห่งชาติขึ้นมา ในเบื้องต้นควรจะประกอบไปด้วย National Log Server, National Web Proxy Server และ National SMTP Server

  • Natianal Log Server จะทำหน้าที่จัดเก็บ log ต่างๆ จากเซิร์ฟเวอร์ของทางราชการทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ  เพื่อประหยัดงบประมาณในการดำเนินการจัดเก็บข้อมูลของราชการ  และอาจจะคิดค่าบริการกับเอกชนที่จะสนใจใช้บริการ (หรืออาจจะบังคับให้ทำในลักษณะของ remote log server ไปเลยก็ได้) ทั้งนี้เมื่อมีข้อมูลของ log ต่างๆ อยู่ในมือแล้วก็จะสามารถทำการวิเคราะห์ข้อมูลได้ง่ายขึ้นไปอีก  พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะสะดวกในการทำงานยิ่งขึ้นไปอีก
  • National Web Proxy Server  ทำหน้าที่ในการเก็บข้อมูลว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมดในประเทศไทย เปิดดูเว็บไซต์ไหนบ้าง  โดยใช้รหัสประจำตัวประชาชนเป็น user ID  ซึ่งทุกครั้งที่จะเปิดเว็บก็จะต้องมี pop up ขึ้นมาถาม user ID และ password ก่อน  ซึ่งจะทำให้สามารถควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างแท้จริง  เพราะจะทราบอายุที่แน่นอนของผู้ใช้  หากยังเป็นเด็กและเยาวชนก็ป้องกันไม่ให้ดูเว็บโป๊ได้ทันท่วงที     ทั้งนี้ข้อเสียคือชาวต่างชาติจะไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้สะดวกเท่าไหร่นัก
  • National SMTP Server บังคับให้ SMTP server ของผู้ให้บริการทั้งหมดจะต้องมา relay ผ่านเซิร์ฟเวอร์ตัวนี้ทั้งขาเข้าและขาออก  และพัฒนาระบบขึ้นมาจัดเก็บและวิเคราะห์เนื้อหาอีเมลต่างๆ ของคนในประเทศ  อันเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของประเทศอย่างแท้จริง

ท้ายที่สุดนี้กระทรวงไอทีซีก็ควรจะเป็นหัวหอกในการดำเนินการจัดทำ Internet 3 เสียเลย  และบังคับให้นานาประเทศทำตามประกาศต่างๆ ที่กระทรวงได้กำหนดขึ้น

ป.ล.  ผู้ที่จะคอมเม้นกรุณาระบุหมายเลขประจำตัวประชาชนด้วยครับ    😆

New ICT Minister and Open source software

dt-opinion.jpg

ข้างบนนั่นเป็นความคิดเห็นหนึ่งที่มีต่อกลุ่มผู้ลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึง รมว. ICT ที่ร่างโดยคุณเทพพิทักษ์  หลังจากที่มีการแสดงความคิดเห็นต่อซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส  จากหนังสือพิมพ์บางกอกโพส ฉบับวันพุธที่ 15 พ.ย. 2549 (U-TURN AT ICT MINISTRY by DON SAMBANDARAKSA)

ส่วนที่รศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ICT คนปัจจุบัน ได้กล่าวถึงซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส  มีในข่าวดังนี้

On the subject of open source software, he said the current government
plan was a case of the blind leading the blind, as neither the people who
are in charge nor the people in industry seem to know the dangers of
open source software.

“With open source, there is no intellectual property. Anyone can use it
and all your ideas become public domain. If nobody can make money
from it, there will be no development and open source software quickly
becomes outdated,” he said.

Apart from Linux, he claimed that most open source software is often
abandoned and not developed, and leads to a lot of low-quality
software with lots of bugs.

“As a programmer, if I can write good code, why should I give it away?
Thailand can do good source code without open source,” he said.

ข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปไกลถึง slashdot.org และ digg.com ซึ่งได้รับการแสดงความคิดเห็นอย่างมากมาย  แน่นอนว่ากลุ่มผู้ใช้งานซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สย่อมไม่เห็นด้วยกับความเห็นของ รมว. ICT โดยในขณะที่ผมเขียนบล็อกนี้อยู่นั้นก็มีผู้ลงชื่อที่ “บล็อกนั้น” ไปแล้วประมาณ 530 คนภายในเวลาประมาณ 27 ชั่วโมง

แน่นอนว่ากลุ่มคนที่มีความคิดเห็นในด้านตรงข้าม ก็ย่อมมีดังเช่นข้อความในกระทู้ข้างต้น หรืออีกข้อความหนึ่งในกระทู้เดียวกัน

opinion2.jpg

ความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องธรรมดา  แต่สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือในหลายๆ ครั้ง  ไม่ได้มีแค่ความคิดเห็นที่แตกต่างแต่เพียงอย่างเดียว  กลับมีข้อความที่ไม่เหตุผล ใช้อารมณ์ และอยู่นอกเหนือจากเรื่องราวที่กำลังคุยกันปนแทรกมาด้วย ทำให้เรื่องราวที่เป็นเหตุเป็นผลกลายเป็นไร้เหตุผล และเต็มไปด้วยอารมณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะนับเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน 

ล่าสุดใน”บล็อกนั้น”ได้มีข้อความโพสจากคุณธวัชชัย เอี่ยมไพโรจน์ (เลขานุการสมาคมสมาพันธ์โอเพนซอร์สฯ) ว่าได้ประสานงานเพื่อขอชี้แจงทำความเข้าใจในเรื่องโอเพนซอร์สต่อ รมว. ICT ในวันที่ 21 พ.ย. 2549 โดยดร.วิรัช (นายกสมาคมสมาพันธ์ฯ) และคุณธวัชชัยได้สนทนาทางโทรศัพท์กับ รมว. ICT ในเบื้องต้น  โดย รมว. ICT ได้แจ้งว่าท่านไม่เข้าใจในเรื่องนี้เพียงพอ และท่านยินดีที่จะแถลงแก้ข่าวให้ โดยขอให้ช่วยให้ข้อมูลต่อท่านด้วย และท่านขอยืนยันว่าไม่ได้ให้สัมภาษณ์เพื่อประโยชน์ต่อใครทั้งสิ้น

ท้ายที่สุดแล้ว เรื่องนี้น่าจะจบลงด้วยดีหากมีการพูดคุยและทำความเข้าใจกัน  ซึ่งก็คงต้องคอยดูกันต่อไป 🙂

เรื่องนี้ทำให้รู้ว่า มักจะมีคนที่ยังไม่รู้และเข้าใจว่าซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สเป็นอย่างไร แล้วมองไปในด้านลบ และมักจะโยงไปถึงเรื่องแต่เรื่องของเงินๆ ทองๆ เสมอ ทั้งที่จริงซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ ด้วย