24th Universiade 2007 – การติดตั้งอุปกรณ์และเดินสายเครือข่ายเน็ตเวิร์ค (3)

เดินสายเครือข่ายเพิ่มเติมในห้องผู้จัดการสนาม

เดิมทีนั้นห้องผู้จัดการสนามไม่ได้ขอให้ติดตั้งเน็ตเวิร์คไว้  ทำให้ไม่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้  ซึ่งการขอให้มีการเดินสายเพิ่มเติมภายหลังนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากมาก  เพราะลำพังแค่ตามเก็บงานที่คั่งค้างอยู่ของแต่ละสนามนั้น  ก็ทำให้ทีมงานของ IT ส่วนกลางแทบจะไม่เป็นอันกินอันนอนแล้ว 

เมื่อผมได้โอกาสเจอกับทีมงานที่มาติดตั้งโทรศัพท์  ก็เลยขอให้เขาเดินสายแลนจากห้อง Doping ไปยังห้องผู้จัดการสนามให้ด้วย  ซึ่งเขาก็ยอมทำให้  แต่ผมก็ได้เห็นความลำบากยุ่งยากพอสมควร  เพราะต้องเปิดฝ้าปีนบันไดเดินสายทะลุผ่านห้องต่างๆ หลายห้องกว่าจะมาถึงห้องผู้จัดการสนาม

ประเด็นของการเดินสายเพิ่มเติมหรือปรับเปลี่ยนผังของเน็ตเวิร์คนั้น  สำหรับที่ Main Stadium นั้นถือว่ามีปัญหาน้อยมาก ในขณะที่บางสนามแข่งขันมีการปรับเปลี่ยนรื้อสายหรือเดินสายเพิ่มเติม ในลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่ได้ออกแบบไว้  ทำให้ทีมงาน IT ส่วนกลางต้องเสียเวลาในการทำงานมากขึ้นไปอีก

สกอร์บอร์ดทะเลาะกัน

ในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกครั้งนี้ ได้ว่าจ้าง บริษัท Swiss Timing มาเก็บข้อมูลสถิติและผลการแข่งขัน  ซึ่งในสัญญานั้นบริษัทได้นำเอาสกอร์บอร์ดของตัวเองมาใช้ในการรายงานผลการแข่งขันด้วย 

st_scb.jpg
เจ้าหน้าที่ของ Swiss Timing กำลังตรวจสอบการทำงานของสกอร์บอร์ดที่เพิ่งจะประกอบเสร็จ

การติดตั้งสกอร์บอร์ดนั้นในช่วงแรกทำท่าจะมีปัญหา เพราะชิ้นส่วนต่างๆ ของสกอร์บอร์ดมีน้ำหนักมากและอาจต้องใช้รถฟอร์คลิฟท์มาช่วยยกขึ้นไปประกอบ  ซึ่งการนำรถฟอร์คลิฟท์เข้ามาในสนามนั้นก็อาจจะทำให้สนามแข่งมีปัญหาได้จากน้ำหนักของตัวรถเอง   แต่ในที่สุดก็สามารถใช้แรงคนช่วยกันประกอบสกอร์บอร์ดจนได้

ใน Main Stadium นั้นก็มีสกอร์บอร์ดประจำสนามซึ่งมีขนาดใหญ่มากๆ สามารถมองเห็นได้จากระยะไกลอยู่แล้ว  จึงได้มีการเจรจากันระหว่างสมาคมกรีฑาฯ และบริษัท Swiss Timing ว่าจะให้มีนำข้อมูลจากสกอร์บอร์ดเล็กไปแสดงในสกอร์บอร์ดใหญ่ของสนามด้วย  แต่ทาง Swiss Timing ก็ไม่ยินยอม 

main_scb.jpg
สกอร์บอร์ดอันไหนใหญ่กว่ากัน และใหญ่กว่าขนาดไหน
ก็ลองเปรียบเทียบด้วยสายตาเอาเองนะครับ

เมื่อตกลงกันไม่ได้  ทางสมาคมฯ ก็เลยต้องเปลี่ยนแผน โดยจะนำสกอร์บอร์ดใหญ่ของสนามไว้แสดงผลอย่างอื่นทีเกี่ยวกับสื่อต่างๆ แทน ซึ่งในตอนแรกนั้นผมเองก็นึกไม่ออกว่านำไปใช้อย่างไร  ดูเหมือนว่าปัญหาตรงนี้น่าจะคลี่คลายได้ด้วยดี  

แต่ปรากฎว่าบริษัทที่ถูกว่าจ้างให้มาติดตั้งระบบควบคุมสกอร์บอร์ดของสนามนั้น  จำเป็นที่จะต้องติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมในห้อง photo finish ด้วย  ซึ่งทาง Swiss Timing ก็ไม่ยินยอมให้ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์อื่นๆ นอกจากตัวคอนโทรลสกอร์บอร์ดที่ฝังอยู่ข้างกำแพง  เพราะมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ทั้งหมดในห้องนั้น

ผมก็ต้องเข้าไปช่วยอธิบายให้ทาง Swiss Timing เข้าใจ  ซึ่งในที่สุดแล้วก็ต้องลากสายจากตัวคอนโทรลเลอร์อ้อมผ่านบนเพดานออกมาข้างนอกห้อง photo finish (อย่างทุลักทุเล) เพื่อมาต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ควบคุมสกอร์บอร์ดที่ต้องนำมาตั้งอยู่นอกห้อง  เวลาเข้าไปทำการลากสายก็ต้องรอให้ทาง Swiss Timing ทำงานเสร็จก่อนคือหลัง 17.00 น.ไปแล้ว

MCOT นำรถถ่ายทอดมาติดตั้งอุปกรณ์

ในวันที่ 7 ส.ค. ช่อง 9 อสมท. ได้นำรถถ่ายทอดสด (OB Van) พร้อมอุปกรณ์ต่างๆ มาติดตั้ง  ในฐานะที่ผมเป็นผู้จัดการฝ่าย IT ก็มีหน้าที่จะต้องประสานงานและอำนวยความสะดวกในการทำงานของทาง อสมท. ด้วย  ผมได้เข้าไปแนะนำตัวและทำความรู้จักกับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบของทาง อสมท. ซึ่งเจ้าหน้าที่แต่ละท่านของ อสมท. ค่อนข้างเป็นกันเองในการทำงาน  และเป็นทีมงานที่ประสบการณ์สูงทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความราบรื่น

obvan.jpg
รถถ่ายทอดสด 2 คันของ อสมท. และอีกคันเป็นของ UBC

รถถ่ายทอดสดมีทั้งหมด 3 คัน  ในวันที่ 7 นั้นจะมาเฉพาะของ อสมท. ส่วนคันที่ 3 ซึ่งเป็นของ UBC จะมาในเช้าตรู่ของวันที่ 9 ส.ค. ซึ่งเป็นวันที่มีการแข่งขันวันแรก  สาเหตุที่มาช้าเพราะต้องทำหน้าที่ในการถ่ายทอดสดพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาในวันที่ 8 ส.ค.ให้เสร็จสิ้นก่อน  ทำให้ฉุกละหุกในการติดตั้งอุปกรณ์พอสมควร

รถถ่ายทอดสดนั้นจำเป็นจะตั้งรับสัญญาณนาฬิกาการแข่งขันและสัญญาณภาพจากกล้องที่จุดเข้าเส้นชัยของ Swiss Timing ด้วย  ผมจึงได้ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่าง อสมท. และ Swiss Timing อีกครั้ง  และนอกจากนี้แล้วทางสมาคมกรีฑาฯ ได้ประสานงานกับ อสมท. ให้นำภาพการแข่งขันขึ้นแสดงในสกอร์บอร์ดใหญ่ของสนาม  ทำให้สกอร์บอร์ดกลายเป็นเหมือนจอทีวีขนาดใหญ่ในสนาม 

ลักษณะการถ่ายทอดสดของ อสมท. ได้ทำให้เกิดบรรยากาศการแข่งขันที่น่าสนใจมากขึ้น  เพราะตากล้องของ อสมท. ได้ลงมาทำการถ่ายภาพนักกีฬาในสนามอย่างใกล้ชิด  เช่น ในช่วงของการแนะนำนักกีฬาประเภทลู่  ในขณะที่โฆษกประจำสนามอ่านรายชื่อนักกีฬาแต่ละคนนั้น ตากล้องได้เดินถ่ายตามไปด้วย  ผู้ชมในสนามจึงได้มีโอการเห็นหน้านักกีฬาและเห็นนักกีฬาโบกมือในสกอร์บอร์ดใหญ่อย่างใกล้ชิด  รวมทั้งได้ถ่ายบรรยากาศในขณะหลังเข้าเส้นชัยด้วย  นอกจากนี้ก็มีการซูมไปที่ผู้ชมเป็นระยะ ซึ่งเมื่อแต่ละคนเห็นตัวเองก็โบกไม้โบกมือให้กล้องกันใหญ่


นี่เป็นคลิปที่ผมถ่ายเองจากในสนามครับ


คลิปนี้ผมบังเอิญไปเจอใน youtube ครับ

จากภาพข้างบนจะเห็นว่ามีการแทรกภาพกราฟิกต่างๆ เช่น สถิติโลก การจับเวลา และผลการแข่งขันในภาพด้วย  ซึ่งก็คงจะคุ้นเคยกับภาพลักษณะนี้ในการแข่งขันกีฬาสำคัญๆ ต่างๆ มากันบ้างแล้ว   ในการทำลักษณะดังกล่าวจะต้องมีการนำเครื่องสร้างภาพกราฟิกชื่อ Agile พร้อมคอมพิวเตอร์สำหรับควบคุม เข้าไปติดตั้งในรถถ่ายทอดสดด้วย  ทำให้ต้องมีการลากสายเน็ตเวิร์คเข้าไปในรถถ่ายทอดสด  พร้อมทั้งเดินสายภายในรถด้วย  (ลองดูภาพรถถ่ายทอดสดด้านบน  จะเห็นว่ามีสายเน็ตเวิร์คสีขาวๆ โยงเข้าไปที่รถ)

inside_obvan.jpg
ภาพภายในรถถ่ายทอดสดของ อสมท.

จากผังเน็ตเวิร์คที่ได้ออกแบบไว้นั้นจะมีการเดินสายจากห้องควบคุมซึ่งอยู่ชั้น 2  ไปบริเวณชั้น 1 ที่รถถ่ายทอดสดจอดอยู่เพียง 1 เส้น และใช้สวิทช์เป็นตัวกระจายสัญญาณออกไปอีกที  ซึ่งก่อนที่รถถ่ายทอดจะมาถึงนั้นได้มีการเดินสายรอไว้แล้ว 1 เส้น   หลังจากเมื่อรถถ่ายทอดสดมาถึงแล้วจึงค่อยมาเดินสายเพิ่มเติมภายหลัง  ซึ่งก็เป็นหน้าที่ผมในการประสานงานแจ้ง IT ส่วนกลางให้มาเดินสายเพิ่มเติม

หลังจากการพิจารณาแล้วเพื่อป้องกันการผิดพลาด  เจ้าหน้าที่จาก IT ส่วนกลางจึงได้ปรับเปลี่ยน  ทำการลากสายใหม่จากสวิทช์หลัก 3 เส้นเข้าไปที่รถถ่ายทอดสดแต่ละคันโดยตรงเลย  เพราะหากสายเส้นใดเส้นหนึ่งมีปัญหา ก็จะส่งผลกับรถถ่ายทอดสดแค่คันเดียวเท่านั้น  ซึ่งภายหลังก็พบว่ามีสายเน็ตเวิร์คเส้นหนึ่งมีปัญหาจริงๆ (เข้าหัวสายผิด) ทำให้ต้องทำการแก้ไขก่อนที่การแข่งขันจะเริ่มขึ้น

ส่วนในการติตตั้งอุปกรณ์สร้างภาพกราฟิกก็ดูจะวุ่นวายพอสมควร  เพราะเจ้าหน้าที่ของทาง MSL จะต้องเป็นผู้มาดำเนินติดตั้งอุปกรณ์ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังต้องลากสายโทรศัพท์เพิ่มเติมเข้าไปในรถถ่ายทอดสดรถละ 2 เบอร์ด้วย  โดยเบอร์หนึ่งจะเป็นโทรศัพท์ธรรมดา ส่วนอีกเบอร์จะเป็นเครื่องโทรสาร ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าจริงๆ แล้วได้ใช้งานหรือไม่

IT Manager @ TU Main Stadium

Universiade 2007 ได้ผ่านไปแล้ว  ผมพยายามจะเขียนเรียบเรียงประสบการณ์ที่ตัวเองได้พบเจอในช่วงการทำงานเป็นอาสาสมัคร  เพื่อบันทึกไว้เตือนความจำว่าได้พบเจอเรื่องราวอะไรบ้าง  ความตั้งใจเริ่มแรกนั้น  ผมตั้งใจว่าจะบันทึกการทำงานแบบวันต่อวัน  แต่ก็ไม่สามารถทำได้  เพราะเหนื่อยมากจนไม่มีเวลาเขียน 

ผมขอย้อนกลับไปเล่าเรื่องราวตั้งแต่แรกเริ่มก่อน 

ผมเป็นอาสาสมัครกีฬามหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศที่ Main Stadium  แต่ละสนามแข่งขันต่างๆ ของธรรมศาสตร์จะมีอาจารย์หรือเจ้าหน้าที่จากธรรมศาสตร์เป็นอาสาสมัครทำงานในตำแหน่งเดียวกันนี้   ซึ่งที่จริงนั้นผมทราบในเบื้องต้นว่าจะได้เป็น IT Manager ที่สนามซอฟท์บอล  แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงกระทันหันในวินาทีสุดท้าย  

ผมได้รับแจ้งอย่างกระทันหันประมาณ 9 โมงเช้าในวันหนึ่งปลายเดือนกรกฎาคมว่าผมได้รับมอบหมายให้เป็น IT Manager ประจำ Main Statdiun และในเวลา 9.30 น. (อีกครึ่งชั่วโมง) จะมีประชุมที่ Main Stadium  และให้ผมเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย 

org-chart.gif

โครงสร้างองค์กรที่ Main Stadium จะมีผู้จัดการสนาม (Venue Manager) อยู่สูงสุด รองลงมาก็จะเป็นผู้จัดการ 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้จัดการฝ่ายเทคนิคกีฬา (Sport Technical Manager)  ผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Manager) และผู้จัดการฝ่ายรักษาความปลอดภัย (Security Manager) 

แม้ Main Stadium จะอยู่ใกล้กับที่พักของผมแค่ 5 นาที  แต่ผมไม่เคยไปเหยียบที่นี่เลย  ผมทราบหมายเลขห้องประชุม  แต่การเดินหาห้องประชุมในสนามกีฬาขนาดใหญ่ ซึ่งมีห้องมากมายและทางเดินที่สลับซับซ้อนมาก ทำให้ใช้เวลากว่า 20 นาทีในการเดินหาห้องประชุม

เมื่อเข้าห้องประชุมแล้ว  ผมก็พบว่ามีคนมากมาย ไม่ต่ำว่า 20 คน กำลังนั่งประชุมกันอยู่ และดูเหมือนว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายแล้วด้วย (?)  ผมจึงเป็นผู้เข้าร่วมประชุมที่ไม่รู้เรื่องราวอะไรในที่ประชุมเลย  และทำให้ผมไม่แน่ใจว่าผมเป็น IT Manager ของสนามนี้จริงๆ หรือไม่  เพราะดูเหมือนจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรเท่าไหร่  จะมีการกล่าวถึงก็แต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น  ในที่สุดผมก็ออกจากห้องประชุมด้วยความงงงวย ว่าฉันมาทำอะไรที่นี่?

เกี่ยวกับ IT ส่วนกลาง กับ IT Manager

ที่จริงแล้วนอกจากผมจะอยู่ภายใต้ผู้จัดการสนามตามโครงสร้างองค์กรแล้ว  ในฐานะ IT Manager นั้นเสมือนเป็นตัวแทนหรือผู้ประสานงานของคณะกรรมการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)  ขอเรียกว่า ‘IT ส่วนกลาง’  ซึ่งก็คือหน่วยงาน Uninet เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)

IT ส่วนกลางเป็นผู้ออกแบบและติดตั้งเครือข่ายเน็ตเวิร์ค เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อื่นๆ รวมทั้งดูแลเครือข่ายในช่วงระหว่างการแข่งขัน   แต่เนื่องมีบุคลากรไม่เพียงพอ  จึงต้องขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เป็นสนามแข่งขัน ให้จัดหาบุคลากรมาทำงานให้ตำแหน่ง IT Manager และผู้ช่วยของแต่ละสนามด้วย (อ่านข่าวเก่าเพิ่มเติม)

ในการแข่งขันกีฬาครั้งนี้ได้ใช้ IT เข้ามาเกี่ยวข้องมาก  เพราะได้ว่าจ้างบริษัท Swiss Timing ของสวิสเซอร์แลนด์ ให้เป็นผู้บันทึกสถิติการแข่งขัน และบริษัท MSL ของสเปน ซึ่งดูแลเกี่ยวกับโปรแกรมการแข่งขันและการรายงานผล  โดยเป็นการรายงานผลการแข่งขันแบบ real time เมื่อผลการแข่งขันสรุปผลเป็นการการแล้ว สามารถที่จะนำขึ้นแสดงบนเว็บไซต์ได้ทันที  

result-bkk2007.jpg

ผมเข้าใจว่าจากข้อตกลงนั้น IT ส่วนกลางจะต้องเป็นผู้จัดเตรียมเครือข่ายเน็ตเวิร์ค อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น โทรศัพท์ เครื่องโทรสาร ให้เรียบร้อยก่อนการแข่งขัน  โดยมีบริษัท กสท.  ทำการเชื่อมโยงสัญญาณเครือข่ายระหว่างสนามแข่งขันต่างๆ  บริษัท เอสวีโอเอ ให้เช่าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์  บริษัท ทรู คอร์ปอเรชัน สนับสนุนหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ และโทรศัพท์พื้นฐาน

สกอ. ได้เชิญผมเข้าร่วมการประชุมเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับลักษณะของงานในตำแหน่งของ IT Manager ในช่วงก่อนการแข่งขัน 2 – 3 ครั้ง แต่ก็ยังขาดความชัดเจนในขอบข่ายการทำงาน  ทำให้ IT Manager แต่ละท่านค่อนข้างเป็นกังวลในการทำงานครั้งนี้

ในช่วงแรกของการทำงานจึงเป็นลักษณะเหมือนการต่อจิ๊กซอว์ส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันทีละส่วน จนได้ภาพที่ชัดเจนก่อนการแข่งขันไม่กี่วัน!   ซึ่งผมสรุปได้ว่าในฐานะของ IT Manager ผมจะเป็นผู้ประสานงานระหว่าง IT ส่วนกลาง กับ Swiss Timing/MSL  และระหว่าง IT ส่วนกลาง กับ ฝ่ายเทคนิคกีฬา (สมาคมกรีฑาฯ)   และระหว่าง Swiss Timing/MSL  กับ เทคนิคกีฬา (สมาคมกรีฑาฯ)   สิ่งที่สำคัญก็คือผมต้องทำหน้าที่บริหารจัดการระบบ IT ของสนามให้ทำงานได้โดยไม่มีปัญหาตลอดช่วงการแข่งขัน  

itm-connection.gif

ดูแล้วเหมือนไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมากมายใช่ไหมครับ  แต่ว่าปัญหาและอุปสรรคที่ผมได้เจอนั้นเหมือนกับ 90% ของภูเขาน้ำแข็งที่ซ่อนอยู่ใต้น้ำ  มากมายจนนึกไม่ถึงเลย!