Sender Policy Framework (SPF) เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้ตรวจสอบว่าอีเมลที่เราได้รับนั้น เป็นอีเมลที่มาจากโดเมนของผู้ส่งจริงหรือไม่ โดยที่ผู้ที่เป็นเจ้าของโดเมนจะต้องทำการเพิ่ม SPF record ให้กับโดเมนของตนเอง ด้วยการระบุลงไปว่าอีเมลที่มาจากโดเมนนั้นๆ จะถูกส่งออกมาจากเซิร์ฟเวอร์เครื่องใด หมายเลข IP Address อะไรบ้าง
วิธีการนี้จะช่วยให้สามารถกลั่นกรองบรรดาสแปมเมลทั้งหลายได้ดียิ่งขึ้น เพราะสแปมเมอร์ทั้งหลายมักจะปลอมตัวแอบใช้โดเมนของคนอื่นในการส่งสแปมเมล ดังนั้นเมื่อตรวจสอบได้ว่าเป็นการปลอมแปลงโดเมน การคัดแยกอีเมลให้ไปอยู่ในกลุ่มของสแปมเมลก็ทำได้มีประสิทธิภาพขึ้น
ผู้ให้บริการเว็บเมลเช่น Gmail ก็ได้นำวีธีการตรวจสอบ SPF ไปใช้นานแล้ว หากคุณมี Gmail สามารถเปิดดูรายละเอียดของการตรวจสอบ SPF ได้ ด้วยการคลิกที่ปุ่ม drop down เมนูรูปสามเหลี่ยม ข้างๆ คำว่า Reply และเลือกที่ Show original
หลังจากนั้นจะมีหน้าต่างใหม่ซึ่งแสดงรายละเอียด header ของอีเมลฉบับนั้นว่ามีการเดินทางเมื่อไหร่อย่างไร ส่งที่เราต้องมองหาก็คือ บรรทัดที่ขึ้นต้นด้วย “Received-SPF:“
ดังเช่นตัวอย่างนี้ แสดงให้เห็นว่าเซิร์ฟเวอร์ IP address หมายเลข 203.xxx.xxx.xxx ซึ่งส่งอีเมล ภายใต้โดเมน domain.org นั้น ไม่ผ่านการตรวจสอบ เพราะโดเมนนี้ไม่ได้ระบุให้ IP address หมายเลขนี้ทำการส่งอีเมล
Received-SPF: fail (google.com: domain of username@domain.org does not designate 203.xxx.xxx.xxx as permitted sender)
ในขณะที่ตัวอย่างต่อไปนี้ แสดงให้เห็นว่าเซิร์ฟเวอร์ IP address หมายเลข 209.xxx.xxx.xxx ซึ่งส่งอีเมล ภายใต้โดเมน domain.org นั้น ผ่านการตรวจสอบ
Received-SPF: pass (google.com: domain of username@domain.org designates 209.xxx.xxx.xxx as permitted sender)
คุณสามารถอ่านรายละเอียดของ SPF ได้ที่เว็บ http://www.openspf.org/ ซึ่งมีบริการให้ตรวจสอบ SPF record ของโดเมน หรืออาจจะใช้บริการของไมโครซอฟท์ที่ http://www.anti-spamtools.org/ ก็ได้เช่นกัน
นอกจากนี้สามารถศึกษา SPF พร้อมตัวอย่างการกำหนด SPF record สำหรับกรณีต่างๆ ได้ที่นี่
http://www.zytrax.com/books/dns/ch9/spf.html
ในกรณีของเว็บเซิร์ฟเวอร์ซึ่งให้บริการเว็บอยู่หลายโดเมน วิธีการตั้งค่า SPF record ที่เหมาะสมคือให้อ้างไปยัง SPF record หลักของเซิร์ฟเวอร์นั้น เพื่อการสะดวกในการแก้ไขปรับปรุงข้อมูล เพราะอย่างไรก็ตามเซิร์ฟเวอร์นั้นก็ต้องทำหน้าที่ในการส่งอีเมลให้โดเมนต่างๆ ที่อยู่ในเครื่องนั้นอยู่แล้ว เช่น
yourdomain.com. IN TXT “v=spf1 include:cyberbeing.biz -all”
mydomain.com. IN TXT “v=spf1 include:cyberbeing.biz -all”
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลสถิติของ MailCleaner ได้ชี้ให้เห็นว่าการใช้ SPF นั้นอาจไม่ได้ผลกับสแปมเมลที่เป็นภาษาไทย
…จากข้อมูลสถิติในระบบ MailCleaner กลับพบว่า อีเมล์ที่ผ่านการตรวจสอบด้วย SPF กลับเป็น จดหมายขยะจำนวนมากถึง 3800 ฉบับต่อสัปดาห์ จากอีเมล์ที่ผ่านการตรวจสอบด้วย SPF จำนวน 1 แสนฉบับต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นอัตราที่มากพอสมควรสำหรับกฎที่มีผลถึงขนาดปฏิเสธการรับอีเมล์
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้ส่งสแปมในประเทศไทยจำนวนไม่น้อย ใช้ฟรีอีเมล์ที่มีการกำหนด SPF ในการส่งสแปม อีเมล์เหล่านี้จึงมาจากเครื่องเซิฟเวอร์ที่ถูกต้องตามหมายเลขไอพีที่ประกาศไว้ ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้แตกต่างกับผู้ส่งสแปมในต่างประเทศที่ใช้วิธีตั้งเมล์เซิฟเวอร์ขึ้นเองเพื่อใช้ในการส่งสแปมโดยเฉพาะ…