การแสดงความคิดเห็น พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดกันในอินเทอร์เน็ต จำเป็นไหมที่เราจะต้องรู้จักกับคนที่เรากำลังคุยด้วยในระดับที่ต้องให้หมายเลขบัตรประชาชน โดยจะต้องลงทะเบียนสมัครเป็นสมาชิกในเว็บบอร์ดหรือในบล็อกก่อนทุกครั้ง (ซึ่งต้องยืนยันตัวบุคคลได้ด้วย) แล้วจึงค่อยลงมือคุยกัน
เราคุยกันโดยไม่จำเป็นต้องรู้จักกันลึกซึ้งขนาดต้องแลกบัตรประชาชนกันไม่ได้หรือ? ผมไม่ได้อยากรู้จักคนที่คุยด้วยขนาดนั้น ก็แค่คุยกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน คุยกันรู้เรื่องก็คุยกันไป คุยไม่รู้เรื่องก็ต่างคนต่างไป
แล้วหากได้หมายเลขบัตรฯ มาก็จะต้องทำการตรวจสอบก่อนงั้นหรือ พอแน่ใจว่าข้อมูลถูกต้องแล้วจึงค่อยคุยกัน หรือเราคุยกันไปก่อน พอตรวจสอบบัตรประชาชนแล้ว ถ้าพบว่าไม่ถูกต้องก็เลิกคุยกันซะ หึๆ 😀
เอ… แล้วถ้าข้อมูลในบัตรถูกต้อง แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าคนที่ให้ข้อมูลบัตรนั้นมาน่ะ เขาเป็นเจ้าตัวจริงๆ
ถ้าสมมติว่าข้อมูลที่คุณให้มาถูกต้อง ผ่านกระบวนการตรวจสอบและคุณยืนยันตัวเองได้ ดังนั้นก็หมายความว่าผมก็รู้ชื่อ-นามสกุล กับรหัสบัตรฯ ของคุณ ผมก็เอาไปใช้ต่อได้ละสิเนี่ย หวานหมูเลย
ดังนั้น ผมก็คือคุณ และ คุณก็คือผม เราคือกันและกัน (ดูโป๊ไปไหมครับ 😆 )
ต่อไป web board ต่างๆ จะหันไป host ที่ต่างประเทศแทน เพราะกฎหมายไทยครอบคลุมไม่ถึง
เขาบอกว่า เขตอำนาจของศาลการพิจารณาคดี ระบุไว้ชัดเจนว่า การกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มุ่งเป้ามาที่ประเทศไทย แม้ว่าผู้กระทำผิดหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้เป็นเครื่องมือการะทำผิดจะอยู่ต่างประเทศ ก็จะสามารถเอาผิดตาม พ.ร.บ. นี้ได้ครับ
หากนักบินอวกาศทำผิดกฎหมายนี้จากเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่อยู่นอกโลก พ.ร.บ. นี้ก็ตามไปเอาผิดได้เช่นกันครับ 😉
อ้อ ไม่แน่จะว่าจะรวมไปถึงการเอาผิดกับมนุษย์ต่างดาวด้วยรึเปล่านะครับ 😛