ถ้าคุณเปิดเว็บไซต์ของตัวเองแล้วพบว่าถูกปิดกั้นโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปรากฎเป็นหน้าจอสีเขียว มีรูปดวงตาที่มีสัญลักษณ์ของกระทรวงอยู่ข้างใน (เหมือนจะบอกว่า เราจับตาดูคุณอยู่นะ) แบบทางด้านบนเนี่ยจะทำยังไงครับ
ผมเดาเอาว่า คุณน่าจะงงเหมือนๆ ผม และคิดในใจว่า นี่มันอะไรกันเนี่ย?
เมื่อลองสำรวจดู ผมพบว่าเว็บของผมที่เข้าไม่ได้นั้น ใช้บริการ URL redirect ของบริษัทผู้รับบริการทดทะเบียนโดเมนเนม (Enom) ซึ่งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
ลักษณะของการทำ URL redirect นี้ มีแทบทุกในบริษัทผู้รับจดโดเมนเนม (Registrar) ซึ่ง Enom ก็เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการในลักษณะนี้ การทำ URL redirect นั้น บ. Enom ได้ตั้งเซิร์ฟเวอร์ขึ้นมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ และเมื่อเวลามีผู้เปิดเว็บที่เป็น URL redirect ก็จะมีการเรียกดูข้อมูลที่เซิร์ฟเวอร์นี้ ก่อนที่บราวเซอร์จะถูกส่งต่อไปยังเว็บไซต์ปลายทางอีกทีหนึ่ง
จากรูป ก็จะเห็นว่ามีอยู่ 3 ขั้นตอนหลังจากที่ผู้ใช้พิมพ์ URL ที่จะถูก redirect ลงไป คือ
- บราวเซอร์ติดต่อไปยัง Enom URL Redirect Server
- Enom แจ้งเว็บปลายทางกลับมา
- บราวเซอร์ติดต่อไปยังเว็บปลายทาง
ผมคาดเดาเอาว่าคงมีผู้จดโดเมนบางคน ใช้บริการของ URL redirect ของ Enom กับเว็บต้องห้ามของตัวเอง ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่บล็อกเว็บคงต้องการตัดไฟแต่ต้นลม (หรือในอีกแง่คิดหนึ่ง – มันทำง่ายดี) ก็เลยบล็อกขั้นตอนที่ 1 ซะ คือไม่ให้ติดต่อกับ Enom URL redirect server
การทำแบบนี้หมายความว่า จะไม่สามารถใช้บริการ URL redirect ของ Enom ได้เลย ดั้งนั้นหากเราไม่ทราบเว็บไซต์ปลายทางจริงๆ ก็จะไม่สามารถเรียกดูได้ ไม่ว่าเว็บนั้นจะต้องห้ามหรือไม่ก็ตาม
ผมไม่รู้ว่ากระทรวงฯ ใช้วิธีนี้กับ registrar เจ้าอื่นๆ ด้วยหรือเปล่า เพราะเจอแค่นี้ก็พูดไม่ออกแล้ว
เรื่องนี้อาจจะไม่ถือเป็นปัญหา เพราะ URL redirect แบบนี้อาจจะมีใช้กันไม่มากนัก แต่ผู้บริโภคบางคนก็เสียตังค์จ่ายเงินใช้บริการไปแล้ว ก็อยากใช้ feature ต่างๆ ให้ครบถ้วนเหมือนกัน
อย่างนี้ต้องโทษใคร? คนที่ทะลึ่งทำเว็บต้องห้ามจนทำให้เกิดปัญหานี้ หรือ วิธีการแก้ปัญหาง่ายๆ ของเจ้าหน้าที่ครับ? 😐
ปล. ผมไม่เดือดร้อนมากนัก แต่ได้กรอกแบบฟอร์มแจ้งไม่ให้ปิดกั้น (ซึ่งหายากหน่อยเพราะเอาไปแอบๆ ไว้ในแบบฟอร์มแจ้งบล็อกเว็บ) อย่างไรก็ตามผมคาดเดาผลลัพธ์ไว้ในใจแล้วละครับ