ยังไม่ทันไรก็มีข่าวจากประชาไทแจ้งว่า เว็บบอร์ดและบล็อกนั้นไม่จำเป็นต้องจัดเก็บหมายเลขประจำตัวประชาชนของผู้ใช้บริการแล้ว ก็เป็นอันว่าความพยายามที่จะฝืนธรรมชาติอย่างหนึ่งของอินเทอร์เน็ตก็หมดสิ้นลง พร้อมๆ กับการดำรงอยู่ต่อไปของ บุคคลนิรนาม ตามเว็บบอร์ดและสถานที่ต่างๆ
นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณี “ประกาศรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. 2550” ที่จะออกมาเป็นกฎหมายเสริมพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 อันจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 18 ก.ค. ที่จะถึงนี้ว่า
กรณีที่ก่อนหน้านี้ ในร่างของประกาศฯ (ฉบับปรับปรุงเมื่อวันที่ 4 ก. ค.) เขียนไว้ว่า กรณีเว็บบอร์ดและเว็บบล็อกนั้น ผู้ให้บริการต้องเก็บข้อมูลทั้ง ชื่อ สกุล รหัสประจำตัวประชาชนของผู้ใช้บริการ และ/หรือ เลขบัญชีธนาคาร และ/หรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการชำระเงิน เช่น เลขบัญชีธนาคาร เลขบัตรเครดิต
ล่าสุด เนื้อหาดังกล่าวมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาแล้ว โดยยกเลิกการเก็บข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชน คงเหลือเพียงหมายเลขไอพีแอดเดรส และวันเวลาที่ผู้ใช้บริการเข้าถึงเท่านั้น ในกรณีเว็บไซต์ทางการค้านั้น อาจจะยังคงให้กรอกหมายเลขบัตรเครดิต
สมมตินะครับ สมมติว่าแท้จริงแล้ว เรื่องนี้เกิดจากเจ้าหน้าที่บางคน/บางกลุ่มได้แก้ไขเพิ่มเติมร่างประกาศการเก็บข้อมูลนี้ให้เป็นไปอย่างที่ตนต้องการ โดยไม่สนใจเสียงทัดทานจากคณะกรรมการที่เป็นผู้พิจารณาร่างประกาศฉบับนี้ ซึ่งแม้ว่าความพยายามนี้จะไม่บรรลุผล แต่บุคคลผู้นี้/กลุ่มนี้และความพยายามที่จะควบคุมเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของประเทศก็ยังคงอยู่ การกระทำครั้งนี้อาจจะเปรียบเหมือนโยนหินถามทาง และฉวยโอกาสอาศัยช่วงจังหวะระยะเวลาทีเผลอของชาวเน็ต ทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ
ความพยายามนี้จะมีขึ้นอีกในอนาคตหรือไม่ ก็ต้องเฝ้าคอยติดตามเรื่องสมมตินี้ต่อไป เพราะเราสามารถสร้างเรื่องสมมติให้เป็นจริงได้เสมอ 🙄