พระราชดำรัส

การมีเสรีภาพนั้นเป็นของดีอย่างยิ่ง แต่เมื่อจะใช้ จำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและความรับผิดชอบมิให้ล่วงละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น ที่เขามีอยู่เท่าเทียมกัน ทั้งมิให้กระทบกระเทือนถึงสวัสดิภาพและความเป็นปรกติสุขของส่วนรวมด้วย มิฉะนั้น จะทำให้มีแต่ความยุ่งยาก จะทำให้สังคมและชาติประเทศต้องแตกสลายจนสิ้นเชิง

(พระราชทานแก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ 9 กรกฎาคม 2514 )

4 thoughts on “พระราชดำรัส”

  1. สรวมชีพชุมหัตถ์น้อม ประณต
    โอนนิรุติอันรส รื่นร้อย
    บูรณ์อาศิรพจน์ เพียงพาทย์
    ทุกท่วง มธุรสถ้อย เทิดหล้าราชัน
    พระเสโทท่วมพื้น ถึงพรหม
    ล้านราชกิจวิกรม ดั่งฟ้า
    ตรากตรำพระกายตรม เพื่อผสก
    ภูมิพลังแห่งหล้า หลักแก้วโกสินทร์
    ยินแต่ทวยราษฎร์ซ้อง สดุดีพระเอย
    เกริกพระเกียรติบารมี กึกก้อง
    น้อมมนัสปฐพี รองบาท-บงสุ์พ่อ
    ขอพระชนม์ดลพ้อง ผ่องถ้วนจิรันดร์เทอญ

  2. นับแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 และพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการ “ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” เป็นต้นมา พระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อการพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎร ให้สามารถพึ่งตนเอง พออยู่พอกิน มีอิสระที่จะอยู่ได้โดยไม่ต้องยึดติดกับเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก ดังแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ประชาชนชาวไทยได้ยิน ได้ฟังกันอยู่เสมอ หรือแม้กระทั่งหลายครอบครัว ได้น้อมนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันของตนแล้ว
    พระราชกรณียกิจในด้านการศึกษา ที่พระองค์ทรงเห็นความสำคัญในการสร้าง คน ทรัพยากรอันมีค่าสูงสุดในการพัฒนาประเทศ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในระยะแรกของพระองค์ จึงเป็นโครงการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเพื่อการกินดีอยู่ดี นอกจากนั้นยังมีแนวพระราชดำริในการอนุรักษ์ป่าไม้ ดิน น้ำ และการจัดการหมู่บ้านป่าไม้เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าของราษฎร อันเป็นแนวพระราชดำริที่หน่วยงานรับผิดชอบได้น้อมนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว
    หากจะกล่าวถึงรายละเอียดของพระราชกรณียกิจและแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยนั้น จะกล่าวไปเท่าใดก็ไม่มีวันหมด ด้วยตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงครองราชย์มา 60 ปีนั้น พระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการมาอย่างต่อเนื่อง ดั่งทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะทรงพัฒนาประชาชนและประเทศชาติให้มีความเจริญมั่นคง ตามที่เคยมีประชาชนร้องออกมาดัง ๆ เมื่อคราวเสด็จกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ว่า “อย่าละทิ้งประชาชน” ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานคำตอบผ่านหนังสือวรรณคดีว่า “ถ้าประชาชนไม่ละทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะละทิ้งอย่างไรได้” และ 60 ปีที่ทรงครองราชย์ ได้พิสูจน์ชัดแล้วว่า พระองค์ไม่ได้ทรงละทิ้งประชาชนของพระองค์เลย ซึ่งนั่นคือที่มาของพลังแห่งความปลื้มปิติของพสกนิกรทั้งแผ่นดิน

  3. ทูลพ่อหลวง แผ่นดินไทย ในแนวหล้า ปวงประชา น้อมจิต ขอถวาย
    ขอสรรเสริญ พระบารมี มิเสื่อมคลาย น้อมถวาย สดุดี องค์ราชันย์

  4. ๖๐ ปี ทรงลำบาก มากอักโข พระเสโท ชโลมไหล ให้ไทยเห็น
    ๖๐ ปี ทรงครองธรรม ดับลำเค็ญ ไผทเย็น นิราศไร้ เภทภัยพาล
    “ เศรษฐกิจพอเพียง” ตามรอยพ่อ รู้เพียงพอ ก่อสุข ทุกสถาน
    ทรงเสียสละ มากล้น พ้นประมาณ ๖๐ ล้าน ดวงใจ ถวายพระพร ฯ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *