The Biggest Dream

เพลงพระราชนิพนธ์ ความฝันอันสูงสุด

ภาพชุด “ด้วยความจงรักภักดี” จากนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี

สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เรื่องถวายการรักษาพระปิฐิกัณฐกัฐิของ ‘ในหลวง’

สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เรื่อง การถวายการรักษาพระปิฐิกัณฐกัฐิ (กระดูกสันหลัง) ของ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ที่เริ่มมีพระอาการทรงก้าวพระบาทขวาไม่ถนัดในปี 2538 และได้ถวายการรักษาเรื่อยมา จนวันที่ 3 พ.ค.คณะแพทย์ที่ถวายการรักษาได้ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่า ควรถวายการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดในวันพฤหัสบดีที่ 20 ก.ค.นี้ ที่โรงพยาบาลศิริราช

แถลงการณ์สำนักพระราชวัง เรื่อง การถวายการรักษาพระปิฐิกัณฐกัฐิ (กระดูกสันหลัง) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความว่า ใน พ.ศ.2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระอาการทรงก้าวพระบาทขวาไม่ถนัด ขณะทรงพระดำเนินเป็นครั้งคราว คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาและศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ ได้ถวายการตรวจพระวรกาย และตรวจด้วยเอกซเรย์ พบว่า พระปิฐิกัณฐกัฐิ หรือกระดูกสันหลัง ระดับบั้นพระองค์ (Lumbar Spine) มีการเปลี่ยนแปลงตามพระชนมายุ การตรวจเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยกระแสไฟฟ้า พบว่า มีการกดทับเล็กน้อยของเส้นประสาทที่แยกออกจากไขสันหลังระดับบั้นพระองค์ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวในขณะที่ทรงพระดำเนิน คณะแพทย์ได้ถวายพระโอสถ พระอาการดีขึ้น

ต่อมา ใน พ.ศ.2546 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระดำเนินระยะทางยาวประมาณ 200 เมตร มีพระอาการก้าวพระบาทข้างขวาไม่ถนัด คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ถวายตรวจพระวรกาย และถวายตรวจทางรังสีวิทยาคลื่นสนามแม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging:MRI) และด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ใช้รังสีเอกซ์ (Computerize Tomography-CT) พบว่า ช่องทางเดินของเส้นประสาทไขสันหลังระหว่างปล้องของพระปิฐิกัณฐกัฐิ ตรงตำแหน่งดังกล่าวแคบลง (Lumbar spinal stenosis)

ใน พ.ศ.2548 คณะแพทย์ได้ปรึกษากันและได้ถวายการตรวจอีกครั้งหนึ่ง มีความเห็นว่าควรถวายการรักษาด้วยวิธีกายภาพบำบัดก่อน หากไม่ได้ผลควรต้องพิจารณาวิธีรักษาด้วยการผ่าตัดขยายช่องทางเดินประสาท

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2549 คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลศิริราช และจากสถาบันการแพทย์อื่นได้ร่วมประชุมปรึกษากันและเห็นพ้องต้องกันว่าควรถวายการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ในการนี้ต้องถวายพระโอสถก่อนการผ่าตัดสักระยะเวลาหนึ่ง และหลังจากการผ่าตัดจำเป็นต้องใช้เวลานานเพื่อการบริหารพระกล้ามเนื้อเพื่อเสริมสมรรถภาพ จึงเห็นสมควรถวายการผ่าตัด หลังจากงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี คณะแพทย์จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ถวายการผ่าตัดขยายช่องทางเดินประสาทของพระปิฐิกัณฐกัฐิ (Lumbar Spine) ระดับบั้นพระองค์ โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ (Microsurgical decompression) ณ โรงพยาบาลศิริราช ในวันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2549 จึงประกาศมาให้ทราบโดยทั่วกัน สำนักพระราชวัง วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2549

สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เรื่องพระอาการประชวรของในหลวง

แถลงการณ์สำนักพระราชวัง

เรื่อง พระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เมื่อวันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2549 เวลา18.19 น. ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระดำเนินออกกำลัง พระวรกาย ณ บริเวณถนนด้านหน้า ของพระตำหนักจิตรดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ทรงสะดุด และล้มลง ทรงยืนขึ้นด้วยพระองค์เอง จากนั้นก็ทรงพระดำเนินกลับขึ้นพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ทรงมีรอยถลอกที่พระฉวี (ผิวหนัง) 3 แห่ง ทรงมีรอยช้ำที่พระปฤษฎางค์ (หลัง) ด้านขวา พระอังสา(ไหล่) มีพระอาการเจ็บปวดพระวรกายขณะทรงเปลี่ยนพระอิริยาบถ และขณะทรงพระดำเนิน คณะแพทย์ได้ถวายเอกซเรย์พบรอยร้าวเล็กน้อยที่พระผาสุกัฐิ (กระดูกซี่โครง) ซี่ที่ 4 ด้านขวา คณะแพทย์ได้ถวายพระโอสถ พระอาการดีขึ้นเป็นลำดับ จึงถวายคำแนะนำให้ทรงพักผ่อนพระวรกายและให้ทรงงดพระราชกิจสักระยะหนึ่ง
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน


สำนักพระราชวัง
8 กรกฎาคม พุทธศักราช 2549

ขอให้พระองค์ทรงหายจากประชวรในเร็ววันด้วยครับ

หออัครศิลปิน

เมื่อวานได้มีโอกาสแวะไปที่หออัครศิลปินมา หลังจากที่ขับรถผ่านป้ายบอกทางไปหอฯ ตั้งหลายรอบจนได้มีโอกาสเหมาะๆ นี่แหละครับ

หออัครศิลปิน “สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นเลิศในศิลปทั้งมวล เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่พสกนิกรและศิลปินทั่วโลก เป็นสถานที่จัดแสดงผลงานด้านศิลปและวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของพระองค์ 9 ด้าน คือ ด้านหัตถกรรม ด้านกีฬา ด้านวรรณศิลป์ ด้านจิตรกรรม ด้านถ่ายภาพ ด้านภูมิสถาปัตยกรรม ด้านประติมากรรม ด้านดนตรี และด้านการพระราชนิพนธ์เพลง นอกจากนี้ ยังเป็นที่จัดแสดงประวัติและผลงานอันล้ำค่าของศิลปินแห่งชาติทุกท่านในรูปแบบนิทรรศการภาพและเทคโนโลยีที่ทันสมัยและถ่ายทอดผลงานและภูมิปัญญาของศิลปินแห่งชาติทั้ง 4 สาขา คือ สาขาวรรณศิลป์ ศิลปการแสดง ทัศนศิลป์ และสถาปัตยกรรม”

“หออัครศิลปิน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2539 ในโครงการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกาญจนาพิเษก ณ บริเวณ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี”

เว็บไซต์ของหออัครศิลปิน

วันที่ผมไปค่อนข้างเงียบเหงามาก อาจเป็นเพราะว่าเป็นวันหยุดยาวหลายวัน เสียดายที่ทางหอฯ ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป รปภ.ที่ดูแลอธิบายว่าเมื่อก่อนอนุญาตให้ถ่าย แต่ว่าเนื่องจากมีคนถ่ายแล้วเอารูปไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นใครจะถ่ายรูปต้องทำเรื่องมาขออนุญาตเป็นรายๆ ไป

ผมเข้าไปดูข้างในแล้วก็พบผลงานที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีทั้งภาพวาดจาฝีพระหัตซึ่งทางหอฯ ได้จัดแสดงรูปไว้โดยมีการควบคุมอุณหภูมิของรูปภาพไว้ด้วย หอฯ ได้ใช้เซ็นเซอร์เข้ามาช่วยในการแสดง โดยเวลาผมเดินไปใกล้ตัวเซ็นเซอร์จะสั่งให้เปิดไฟและมีคำอธิบายถึงผลงานแต่ละชิ้นของพระองค์ นอกจากนี้ก็ยังมีทีวีและจอระบบสัมผัสอยู่เป็นระยะๆ ด้วย

นอกจากนี้ก็ยังมีห้องแสดงผลงานของศิลปินแห่งชาติในสาขาต่างๆ ได้แก่ สาขาทัศรศิลป์ สาขาศิลปะการแสดง สาขาวรรณศิลป์ ทางหอฯ ได้มีการจัดแสดงผลงานต่างๆ เป็นอย่างดี บรรยากาศก็เหมือนกับการแสดงนิทรรศการศิลปดีๆ นี่เองครับ (แต่เนื่องจากไม่มีใครอยู่ในห้องเลย ผมเดินชมอยู่คนเดียว ก็เสียวๆ เหมือนกัน) ผมเข้าใจว่าหอฯ ได้มีการจัดประชุมสัมนาและกิจกรรมต่างๆ อยู่เป็นระยะๆ ใครว่างๆ ผ่านมาแถวนี้ก็ลองแวะเข้าไปดูหน่อยก็แล้วกันครับ (แผนที่)

เพิ่มเติมอีกนิดว่าที่บริเวณเดียวกันนั้นมี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกาญจนาภิเษก อยู่ด้วยครับ แต่ว่ายังไม่เปิดอย่างเป็นทางการ ถ้าขับรถเข้าไปใกล้ๆ จะเห็นตึกของพิพิธภัณฯ สูงเด่นขึ้นมาเลย แต่ที่น่าเสียดายก็คือ ตัวอาคารดูชำรุดทรุดโทรม เวลาเปิดใช้งานจริงๆ ก็คงต้องมีการซ่อมใหญ่เหมือนกันครับ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานพรปีใหม่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกรชาวไทย เนื่องในวารดิถีขึ้นปีใหม่ ประจำปี 2548 ความว่า “ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย บัดนี้ถึงวาระขึ้นปีใหม่ ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาดี มาอวยพรให้ท่านทั้งหลายทั่วกัน และขอขอบใจท่านเป็นอย่างยิ่ง ที่มีไมตรีจิต สนับสนุนข้าพเจ้าในภารกิจทั้งปวง ด้วยดีเสมอมา ตลอดปีที่แล้วมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหลายอย่าง ดีดีก็คือ การที่นักกีฬาของเราไปรับเหรียญรางวัลหลายประเภท ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และที่ไม่ดีก็มีอยู่มาก เราต้องประสบเหตุไม่ปกติต่างๆ จนทำให้เกิดความวิตก ห่วงใยกันอยู่ทั่วไป ใกล้ถึงสิ้นปีก็เกิดภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ ทำให้สูญเสียชีวิต และทรัพย์สินอย่างร้ายแรง เราคงต้องช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ และฟื้นฟูสถานะของบ้านเมืองเป็นการใหญ่ รวมทั้งหาทางป้องกัน เตือนภัยให้มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม เหตุต่างๆ นั้น ได้ทำให้เห็นแจ้งถึงน้ำใจของพวกเราอย่างเด่นชัดว่า ทุกคนในผืนแผ่นดินไทย ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน มีความสามัคคีกัน ต่างห่วงใยกันด้วยใจจริง ได้แสดงเจตนารมณ์ ที่จะอยู่ร่วมกันโดยสันติสุข และเมื่อเกิดภัยพิบัติ คนไทยไม่ทิ้งกัน ต่างพร้อมเพรียงกันเข้าปฏิบัติช่วยเหลือทันทีด้วยความเสียสละ และจริงใจ ไม่เลือกว่า เป็นชาวไทย หรือต่างประเทศ ข้าพเจ้าอยากกล่าวย้ำแก่ท่านทั้งหลาย เหมือนที่เคยกล่าวมาเมื่อหลายปีก่อนว่า วิถีชีวิตของคนเรานั้น จะให้มีแต่ความปกติสุขอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีทุกข์ มีภัย ผ่านเข้ามาด้วยเสมอ ยากจะหลีกเลี่ยงพ้น ในปีใหม่นี้ข้าพเจ้าจึงขอให้ทุกคนรักษาความสามัคคีและจิตใจอันดีนี้ไว้เป็นนิจ เพราะสิ่งนี้คือคุณลักษณะพิเศษที่ช่วยให้ชาติบ้านเมืองของเราอยู่รอดปลอดภัย และช่วยให้เราทุกคนอยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุขมาช้านาน ตราบใดที่เราทั้งหลายรักษาคุณลักษณะนี้ไว้ได้ ก็มั่นใจได้ว่าชาติบ้านเมืองของเราจะดำรงมั่นคงอยู่ตราบนั้น

ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยเคารพบูชา จงอภิบาลรักษาท่านทุกคนให้ปราศจากทุกข์ ปราศจากภัย ให้มีความสุขกาย สุขใจและประสบแต่สิ่งที่พึงประสงค์ตลอดศกหน้านี้โดยทั่วกัน”

ในปีนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงงดปรุงส.ค.ส. ครับ