kingscard-2009
พระราชดำรัส
พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย
เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๒
วันพุธที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
(ฉบับไม่เป็นทางการ) 


ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย บัดนี้ถึงวาระจะขึ้นปีใหม่ เป็นเวลาที่เราควรจะระลึกถึงกัน และอวยพรแก่กัน ด้วยความปรารถนาดี ก่อนอื่นข้าพเจ้าต้องขอขอบใจทุกท่านเป็นอย่างมาก ที่ร่วมกันจัดงานพระศพพี่สาวข้าพเจ้าอย่างยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติ

ทั้งอุตส่าห์มาร่วมในงานเมื่อเดือนพฤศจิกายน ด้วยใจภักดี และระลึกถึง กับขอส่งความปรารถนาดี มาอวยพรแก่ท่านทุกๆ คน ให้มีความสุขความเจริญ ความสุขความเจริญนี้ คือสิ่งที่พึงปรารถนาอย่างยิ่งของคนเรา แต่ความสุขความเจริญนั้น จะสำเร็จผลเป็นจริงได้ ก็ด้วยการที่ทุกคน ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท มีสติ รู้ตัว และปัญญา รู้คิด กำกับอยู่ตลอดเวลา

กล่าวคือ ไม่ว่าจะประพฤติปฏิบัติการใด ก็ใช้สติ ปัญญา พิจารณา ไตร่ตรองจนถ้วนถี่ ให้เห็นกระจ่างถึงผลดี ผลเสีย ทั้งใกล้ ไกล ทุกแง่ทุกมุม ความรู้ ความเข้าใจชัด ถึงผลดี ผลเสีย ย่อมจะทำให้แต่ละคน เล็งเห็นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ว่าสิ่งใดควรละเว้น และสิ่งใดควรปฏิบัติ เพื่อให้บังเกิดผล เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง และยั่งยืน ทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม

ในปีใหม่นี้ จึงขอให้ประชาชนชาวไทย ได้ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท จะคิด จะทำสิ่งใด ให้คิดหน้าคิดหลังให้ดี ให้รอบคอบ ทำให้ดี ให้ถูกต้อง ผลของการคิดดี ทำดีนั้น จะได้ส่งเสริมให้แต่ละคน ประสบแต่ความสุข ความเจริญ และทำให้ชาติบ้านเมือง มีความเรียบร้อย และอยู่เย็นเป็นสุข ดังที่ทุกคน ทุกฝ่าย ตั้งใจปรารถนา

ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยเราเคารพบูชา จงอภิบาลรักษาท่านทุกคน ให้ปราศจากทุกข์ ปราศจากโรค ปราศจากภัย ให้มีความสุขกาย สุขใจ และความสำเร็จ สมหวัง ตลอดศกหน้านี้โดยทั่วกัน

ส.ค.ส. ๒๕๕๑ พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

kingcard2551.jpg

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยเนื่องใน
โอกาสวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ.๒๕๕๑

(Video)

ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย บัดนี้ ถึงวาระจะขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๕๑ แล้ว ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาดี มาอวยพร แก่ท่านทุกๆ คน และขอขอบใจท่านเป็นอย่างมาก ในน้ำใจไมตรี ที่ทุกคน ทุกฝ่ายแสดงให้เห็น ทั้งในคราวที่เจ็บป่วย และในการจัดงานวันเกิดครบ ๘๐ ปี รวมทั้งได้แสดงความวิตกห่วงใยอย่างจริงใจ ในการเจ็บป่วยของพี่สาวข้าพเจ้า

สถานการณ์ของบ้านเมืองเราจากปีก่อน และต่อเนื่องมาถึงปีที่แล้ว เป็นอย่างไรก็เป็นที่ทราบกันอยู่แก่ใจ แต่อย่างไรก็ตาม เราได้มีรัฐธรรมนูญ และได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว นับว่าประเทศชาติของเรา ได้ผ่านหัวเลี้ยวสำคัญอีกขั้นหนึ่ง จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคน ที่จะต้องช่วยกันประคับประคอง กิจการของบ้านเมือง ให้ดำเนินไปด้วยดี ให้มีความเป็นปึกแผ่น และร่มเย็นเป็นปกติสุข

ทางที่เราจะช่วยกันได้ ก็คือการทำความคิดให้ถูกตรง และแน่วแน่ ในอันที่จะยึดถือชาติบ้านเมืองเป็นที่หมาย แต่ละคน แต่ละฝ่าย จะต้องเพลาการคิดถึงประโยชน์เฉพาะตัว พยายามโอนอ่อนผ่อนปรนเข้าหากัน ด้วยไมตรีจิตและความเมตตากรุณา อย่าก่อปัญหา และก่อเงื่อนไข อันเป็นเหตุให้เกิดความไม่สงบ และความแตกแยก

ผู้ใดมีภาระหน้าที่อันใด ก็เร่งกระทำให้สำเร็จ ลุล่วงไป ให้ทันการณ์ ทันเวลา ผลงานของทุกคน ทุกฝ่าย จะได้ประกอบส่งเสริมกัน ให้ประเทศชาติ อันเป็นที่อยู่ ที่อาศัยของเรา ดำรงมั่นคงอยู่ ด้วยความผาสุข ร่มเย็น ตลอดไป

ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธื์ที่ชาวไทยเคารพบูชา จงคุ้มครอง รักษา ให้ปราศจากทุกข์ ปราศจากภัย ให้มีความสุขสบาย สุขใจ และประสบแต่สิ่งที่พึงประสงค์ ตลอดศกหน้านี้โดยทั่วกัน

ภาพ ส.ค.ส. พระราชทานย้อนหลังทั้งหมด

อัลบั้มภาพ ๘๐ ปีเฉลิมพระเกียรติและประมวลภาพพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา

ชมภาพจากอัลบั้มภาพ ๘๐ ปีเฉลิมพระเกียรติ และประมวลภาพพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา จากสำนักพระราชวัง
Server 1 | Server 2 | Server 3 | Server 4

ดาวน์โหลดอัลบั้มภาพ

  • สำหรับการพิมพ์ (239.6 MB) (pdf)
    Server 1 | Server 2 | Server 3 | Server 4 | Server 5 | Bit Torrent Server
  • สำหรับดูบนคอมพิวเตอร์ (249.1 MB) (interactive e-book)
    Server 1 | Server 2 | Server 3 | Server 4 | Server 5 | Bit Torrent Server
  • สำหรับดูโดยใช้เครื่องเล่น DVD (1.45 GB) (DVD movie)
    Server 1 | Server 2 | Server 3 | Server 4 | Server 5 | Bit Torrent Server
  • ที่มา: http://kanchanapisek.or.th/

    พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

    ๔ ธันวาคม ๒๕๕๐ – พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
    Video version | Audio version | Text version

    ที่มา: http://kanchanapisek.or.th/

    ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับนามสกุลพระราชทาน

    “22 มีนาคม 2455 (ค.ศ.1912) แต่เดิมคนไทยนั้นไม่มีชื่อสกุล หรือนามสกุล มีแต่ชื่อตัวหรือนามบรรดาศักดิ์ จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ประกาศใช้พระราชบัญญัติขนานนามสกุลขึ้น แต่พระราชบัญญัตินี้ก็มีการเลื่อนใช้อยู่หลายครั้ง จนกระทั่งครั้งสุดท้ายที่นำมาใช้คือ วันที่ 1 เมษายน 2461 และตั้งแต่นั้นมา คนไทยก็มีนามสกุลพ่วงท้ายชื่อของทุกคนส่วนนามสกุลที่มี “ณ” นำหน้านั้น เป็นนามสกุลพระราชทานให้แก่ ราชนิกูล ข้าราชการ และให้แก่คหบดีที่อยู่อาศัยในสถานที่นั้นๆ มาช้านาน และมีผู้ยกย่องนับถือเช่น คำว่า ณ อยุธยา เป็นเครื่องหมายนามสกุลของเจ้านายในราชวงศ์จักรี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน โดยครั้งแรกพระราชทานนามว่า “ณ กรุงเทพฯ” ต่อมาในวันที่ 24 มีนาคม 2468 จึงประกาศเปลี่ยนเป็น “ณ อยุธยา” ทั้งนี้เพราะคำว่า”กรุงเทพฯ” เป็นชื่อของมหานออครทั้งในอดีตและปัจจุบัน คือ “กรุงเทพมหานคร บวรทวารวดีศรีอยุธยา” ซึ่งในปัจจุบันเปลี่ยนเป็น “กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์” ส่วนพระบรมราชวงศ์นี้ เดิมเป็นนามสกุลอยู่ในพระนครศรีอยุธยา จึงควรเปลี่ยนมาให้ตรงกับความเป็นมานอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงออกประกาศอีกด้วยว่า ห้ามผู้หนึ่งผู้ใดใช้ ณ นำหน้าสกุลของตน ยกเว้นนามสกุลที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามสกุลให้แก่ผู้ขอพระราชทานกว่า 5,600 นามสกุลทั่วประเทศในเวลานั้น”

    ที่มา: http://www.wing21.rtaf.mi.th/board/question.asp?QID=1251

    “3. การขอเปลี่ยนชื่อสกุลสามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

    3.1 ต้องเป็นคำที่ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย หรือพระนามของพระราชินี
    3.2 ต้องเป็นคำที่ไม่พ้องหรือให้คล้ายกับพระราชทินนาม เว้นแต่เป็นราชทินนามของตน ของบุพการี
    หรือของผู้สืบสันดาน
    3.3 ต้องเป็นคำที่ไม่ซ้ำกับชื่อสกุลพระราชทาน หรือชื่อสกุลที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว
    3.4 ไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย
    3.5 มีพยัญชนะไม่เกิน 10 พยัญชนะ เว้นแต่กรณีเป็นราชทินนาม
    3.6 ผู้ที่ไม่ได้รับพระราชทานชื่อสกุล ห้ามใช้คำว่า “ณ” นำหน้าชื่อสกุล
    3.7 ห้ามเอานามพระนครและศัพท์ที่ใช้เป็นพระบรมนามาภิไธยมาใช้เป็นชื่อสกุล”

    ที่มา: กรมการปกครอง (http://www.dopa.go.th/dload/name1.htm)

    “มีเกร็ดเล็กน้อยว่า เมื่อพระองค์จะพระราชทานนามสกุลแก่ผู้ใดพระองค์จะทรงศึกษาให้ทราบถึงความเกี่ยวดองซึ่งกันและกันของแต่ละสกุลโดยละเอียด หากทรงพบว่าบรรพบุรุษได้ทำคุณงามความดีมีวิทยฐานะและอาชีพอะไร ก็จะทรงแปลงคำมาจัดสรรให้ได้มงคลนามต่างๆ ขึ้นให้ไพเราะเหมาะสม พระองค์ทรงแยกพวกเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงไว้ฝ่ายหนึ่ง ส่วนขุนนางข้าราชบริพารก็ทรงจำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ เช่น มีรกรากเหล่ากอปกครองบ้านเมืองมาแต่ก่อนเก่า ก็ทรงขนานนามสกุลให้เป็นผู้มาจากแหล่งต่างๆ เช่น ณ ระนอง, ณ ถลาง, ณ เชียงใหม่ ฯลฯ”

    ที่มา: คอลัมน์รู้ไปโม้ด โดยน้าชาติ ประชาชื่น – “ที่มานามสกุลในประเทศไทย” (http://www.matichon.co.th/youth/youth.php?tagsub=031101&tag950=03you30300649&show=1)

    ความลับในหลวง ที่ชาวไทยอยากรู้

    รองราชเลขาธิการเผยความลับในหลวงที่คนไทยอยากรู้ จากพิธีเปิดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

    งานเปิดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เรื่องพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีการเสวนาเฉลิมพระเกียรติหัวข้อ “เรื่องที่คนไทยอยากรู้” จาก ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ และนางปิยะนุช นาคคง ผอ.พิพิธภัณฑ์ของจิ๋ว เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมี นางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.กระทรวงวัฒนธรรม และประชาชนกว่า 200 คนร่วมฟัง ณ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อเร็วๆ นี้

    ผู้ดำเนินการเริ่มโหมโรงที่พระเกศาที่หลายคนสงสัยว่าทรงตัดแล้วจะนำไปไว้ที่ใด ปรากฏว่าเก็บไว้ที่ธงเฉลิมพลเพื่อมอบให้แก่ราษฎรที่ทำคุณงามความดีแก่ประเทศชาติ

    จากนั้นผู้ดำเนินรายการถามว่า พระเจ้าอยู่หัวโปรดรายการโทรทัศน์ช่องไหน รองราชเลขาธิการตอบว่า ท่านทรงข่าวสัญญาณฝรั่งเศสของยูบีซี ที่ทราบเพราะก่อนหน้านี้ยูบีซีเคยจะถอดรายการดังกล่าวออก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ติดต่อไปว่าอย่าพึ่งถอด เพราะในหลวงโปรด

    นอกจากนี้ ท่านยังรับฟังข่าวด้านอื่นๆ ด้วย แต่โทรทัศน์เป็นเรื่องรอง เพราะให้ความสำคัญกับวิทยุเป็นหลัก จากที่ทราบมาในหลวงเคยทรงโทรศัพท์รายงานสถานการณ์ต่างๆ ใน กทม. ไปที่ จส. 100 ด้วย โดยใช้พระนามแฝง

    ผอ.พิพิธภัณฑ์ของจิ๋วในฐานะผู้ดำเนินรายการถามต่อว่า ท่านโปรดเสวยอะไร ท่านผู้หญิงบุตรีกล่าวว่า ท่านทรงเพ้อระหว่างประชวร ว่าต้องการเสวยหูปลาฉลาม และต้องไม่ใส่ผงชูรส เพราะท่านแพ้ แต่ก็ไม่ถึงกับขาดไม่ได้ สมัยก่อนรัฐบาลห้ามนำของดังกล่าวเข้ามา ท่านก็ไม่เสวย จนกระทั่งปัจจุบันกลุ่มกรีนพีซออกมาต่อต้านว่าปลาฉลามถูกฆ่าจำนวนมาก ท่านก็เลิกเปลี่ยนไปเสวยปลาแทน

    ท่านผู้หญิงบุตรียังกล่าวว่า ระหว่างที่ท่านทรงรักษาพลานามัยได้ประทับที่พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพราะราชดำเนินได้สะดวกในที่ราบ แตกต่างจากสวนจิตรลดาที่มีนกอีกาจำนวนมาก ประกอบกับมีไข้หวัดนกระบาด นอกจากสภาพแวดล้อมดีกว่า ยังสามารถเล่นกับสุนัขทรงเลี้ยงได้ด้วย พร้อมกับคณะแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด

    ผู้ดำเนินรายการถามต่อว่า นอกจากคุณทองแดง และลูกๆ พระเจ้าอยู่หัวทรงเลี้ยงสัตว์อื่นหรือไม่ ท่านผู้หญิงบุตรีกล่าวว่า คิดว่าไม่มี แต่ก่อนท่านทรงโปรดคุณวานร ซึ่งมีนิสัยดุ เมื่อสิ้นคุณวานร ท่านก็ไม่ได้เลี้ยงสุนัขกว่า 10 ปี จนมาพบคุณทองแดง ทั้งนี้ หลายคนอาจหมั่นไส้ ว่าทำไมสุนัขต้องเรียกคุณ ตนอยากเรียนว่า ของในวังมีราชาศัพท์หมด คุณที่ใช้เรียกนำหน้าสุนัขเป็นศัพท์ที่ในวังเรียกกัน

    จากนั้นผู้ดำเนินรายการก็เปิดโอกาสให้ผู้ฟังถาม คำถามแรกคือ พระเจ้าอยู่หัวทรงตักเตือนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร หรือไม่ ท่านผู้หญิงบุตรีกล่าวว่า เนื่องจากพระบรมฯ เป็นพระโอรสองค์เดียว จึงซนมาก เวลาที่ทำโทษท่านทรงใช้เข็มขัดเฆี่ยนบ้างในบางครั้ง แต่เมื่อพระบรมฯ อภิเษกสมรสก็ทรงเลิกสั่งสอน พร้อมตรัสว่า พ่อแม่จะวางมือเพราะถือว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว

    จากนั้นได้ถามต่อว่า ในหลวงทรงเครื่องดนตรีได้กี่ประเภท ท่านผู้หญิงบุตรีกล่าวว่า ถ้าเป็นดนตรีสากลได้ทุกประเภท โดยเฉพาะแซ็กโซโฟนเป็นเครื่องดนตรีที่โปรดเป็นพิเศษ ส่วนดนตรีไทย ตนไม่เคยเห็น แต่ถ้าเป็นพระเทพฯ แน่นอน

    ผู้ร่วมงานถามต่อว่า จ.ม.ประชาชนส่งถึงในหลวงถึงมือท่านทุกฉบับหรือไม่ รองราชเลขาธิการกล่าวว่า ส่วนใหญ่ถึงมือทุกฉบับ แต่ถ้าไม่เหมาะสมก็ไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ

    ที่มาจากหนังสือพิมพ์

    http://www.mthai.com/webboard/30/121140.html

    ในหลวงมีพระบรมราชานุญาตให้ผันน้ำเข้าที่ดินส่วนพระองค์ สกัดน้ำท่วมกรุงเทพฯ

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชานุญาตให้ผันน้ำเหนือจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าที่ดินส่วนพระองค์ ที่ทุ่งมะขามหย่อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่งผลทำให้ชาวบ้านอีกหลายทุ่งอนุญาตให้ผันน้ำเข้าด้วย กรมชลฯ เผยสามารถลดปริมาณน้ำไหลผ่านกรุงเทพฯ เห็นได้ชัด และเชื่อว่าจะไม่เกิดวิกฤตน้ำท่วมกรุงช่วงน้ำทะเลหนุนสูง อย่างไรก็ตาม บริเวณนครสวรรค์น้ำยังเพิ่มขึ้น คาดแตะระดับสูงสุดเมื่อปี 2538

    นายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เช้าวันนี้มีปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ 3,465 ลบ.ม.ต่อวินาที ยังคงอยู่ในระดับที่วางแผนควบคุม ทั้งนี้ เนื่องจากการประชุมคณะที่ปรึกษาและกรรมการประสานการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามแนวพระราชดำริ ครั้งที่ 1/2549 มีมติให้เจรจาขอผันน้ำเข้าทุ่งหลายแห่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาทิ ทุ่งบางบาล ทุ่งเจ้าเจ็ด

    พร้อมกันนี้ ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ผันน้ำเข้าไปในที่ดินส่วนพระองค์นับพันไร่ ที่พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย (ทุ่งมะขามหย่อง) ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจและยินยอมให้ผันน้ำเข้าทุ่งที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ตั้งแต่ช่วงบ่ายวานนี้ (9 ต.ค.) ช่วยลดปริมาณน้ำที่ไหลมากรุงเทพฯ อย่างเห็นได้ชัด และเชื่อว่าจะผ่านพ้นวิกฤติช่วงน้ำทะเลหนุนสูงนี้ไปได้

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 10 ตุลาคม 2549 11:46 น.

    คณะแพทย์เผยพระอาการ “ในหลวง” ดีขึ้นตามลำดับ เตรียมเสด็จฯ กลับวันนี้

    king9-2.jpg

    king9-1.jpg

    สำนักพระราชวัง ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 18 คณะแพทย์เผยผลการถวายการรักษาพระปิฐิกัณฐกัฐิ (กระดูกสันหลัง) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประสบผลสำเร็จ พระอาการดีขึ้นเป็นลำดับ และกำลังพระกล้ามเนื้อดีขึ้นเร็วกว่าที่คาดหมายไว้ เป็นที่พอใจของคณะแพทย์ สามารถที่จะเสด็จพระราชดำเนินออกจากโรงพยาบาลศิริราช กลับไประทับพักฟื้นที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ได้ในวันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2549

    วันนี้ (3 สิงหาคม ) เวลา 24.00 น. สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง การถวายการรักษาพระปิฐิกัณฐกัฐิ (กระดูกสันหลัง) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉบับที่ 18 ความว่า

    ตามที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรม ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม พุทธศักราช 2549 เพื่อทรงรักษาพระปิฐิกัณฐกัฐิ (กระดูกสันหลัง) ด้วยการผ่าตัดขยายช่องทางเดินประสาทของพระปิฐิกัณฐกัฐิ ระดับบั้นพระองค์ โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ เพื่อแก้ไขการกดทับประสาทที่แยกออกจากไขสันหลัง อันเป็นสาเหตุทำให้กล้ามเนื้อพระเพลา(ขา) อ่อนแรง ซึ่งสำนักพระราชวังได้แถลงการณ์ให้ทราบมาโดยตลอดนั้น คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาได้รายงานว่า การผ่าตัดประสบผลสำเร็จ พระอาการดีขึ้นเป็นลำดับ และกำลังพระกล้ามเนื้อดีขึ้นเร็วกว่าที่คาดหมายไว้ เป็นที่พอใจของคณะแพทย์ สามารถที่จะเสด็จพระราชดำเนินออกจากโรงพยาบาลศิริราช กลับไประทับพักฟื้นที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิตได้ในวันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2549 ในการนี้ คณะแพทย์ได้ขอพระราชทานให้ทรงบริหารพระกล้ามเนื้อ เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ และขอพระราชทานถวายตรวจติดตามเป็นระยะ จนกว่าพระกล้ามเนื้อจะแข็งแรงเต็มที่ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร กับขอพระราชทานให้ทรงงดพระราชกิจไว้ระยะหนึ่ง

    อนึ่ง ในระหว่างที่ทรงพระประชวร ปรากฏว่ามีพระบรมวงศานุวงศ์ พระประมุข พระราชวงศ์ต่างประเทศ คณะทูตานุทูตและผู้แทนกงสุล ชาวต่างประเทศ ทั้งมีถิ่นพำนักในประเทศไทย ทั้งที่เดินทางมาท่องเที่ยว นักบวชศาสนาต่างๆ ตลอดจนข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร และประชาชนทุกหมู่เหล่า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แสดงความห่วงใยในพระอาการประชวร ได้ลงพระนามและลงนามถวายพระพร ให้ทรงหายจากพระอาการประชวรโดยเร็ว รวมทั้งได้เฝ้าติดตามข่าวพระอาการประชวรอยู่ ณ โรงพยาบาลศิริราชอย่างใกล้ชิด ซึ่งความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงชื่นชมในความปรารถนาดี ทำให้พระอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ให้เชิญพระราชกระแสขอบพระทัย และทรงขอบใจมาแจ้งให้ทราบทั่วกัน

    สำนักพระราชวังจะได้ยุติการออกแถลงการณ์เพียงฉบับนี้ จึงขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

    สำนักพระราชวัง

    3 สิงหาคม พุทธศักราช 2549

    ในหลวงพระราชทานสิ่งของแก่ประชาชน

    ในหลวงทรงเป็นห่วงประชาชนที่รอเข้าเฝ้าที่โรงพยาบาลศิริราช โดยได้พระราชทานผลิตภัณฑ์จากโครงการจิตรลดา เช่น นมอัดเม็ดและขนม ทำให้ประชาชนที่ได้รับสิ่งของพระราชทานรู้สึกปราบปลื้มใจเป็นอันมาก

    นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นห่วงเหตุการณ์ในจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้ โดยได้ให้สำนักพระราชวังแจ้งไปยังอธิบดีกรมชลประทาน ให้รายงานสถานการณ์น้ำท่วมให้พระองค์ทรงทราบเป็นระยะๆ ด้วย

    พระองค์ทรงเป็นห่วงประชาชน แม้ว่าพระองค์ยังทรงประทับรักษาพระองค์อยู่ในโรงพยาบาล

    ขอจรงทรงพระเจริญ

    แถลงการณ์สำนักพระราชวัง เรื่องการถวายรักษาพระปิฐิกัณฐกัฐิ (กระดูกสันหลัง) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉบับที่ 3

    king9_2.jpg

    king9.jpg

    หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประทับอยู่ในห้องพักฟื้นเพื่อคณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาสังเกตพระอาการอย่างใกล้ชิดแล้ว ปรากฎว่าพระอาการดีขึ้นตามลำดับ คณะแพทย์จึงขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ เมื่อเวลา 22 นาฬิกา 24 นาที จึงขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

    สำนักพระราชวัง
    20 กรกฎาคม 2549

    ขอให้ในหลวงทรงหายจากพระประชวรและมีพระพลานามัยแข็งแรงโดยเร็ว ต้องขอขอบคุณทีมแพทย์จาก รพ.ศิริราชที่ถวายการรักษาแก่พระองค์ท่านอย่างสุดฝีมือด้วยครับ