วันหยุดยาวที่ผ่านมานั้น อาสาสมัครซึ่งเป็นนักศึกษาและทีมงานฝ่าย ICT ของการแข่งขันกีฬาม.โลก ไม่ได้หยุดไปกับเขาด้วย เพราะมีการประชุมเพื่ออธิบายเกี่ยวกับโครงสร้าง IT ทั้งหมดของการแข่งขัน เพราะส่วนหนึ่งของอาสาสมัครจะต้องไปช่วยตามสถานที่แข่งขันต่างๆ ซึ่งจะมีทั้งช่วยงาน แก้ปัญหา IT ทั่วไป และช่วยกรอกข้อมูลผลการแข่งขัน (Data entry)
ขณะที่อาสาสมัครกำลังรับการอบรม ผมก็ต้องไปสังเกตการณ์ด้วย เพราะจะต้องมีอาสาสมัครส่วนหนึ่งที่ต้องมาทำงานภายใต้การควบคุมของผม อาสาสมัครทั้งหมดเป็นนักศึกษามาจากสถาบันต่างๆ ในห้องนั้นประมาณ 300 คน ซึ่งเป็นธรรมดาที่มีทั้งใส่ใจและไม่ใส่ใจสิ่งที่ผู้บรรยายกำลังอธิบายให้ฟัง
แล้วในที่สุดผมก็ได้ตัวอาสาสมัครช่วยงาน IT ทั่วไปมาทั้งหมด 7 คน เรียนอยู่สาย IT 2 คน เรียนสาขาวิทยาศาสตร์สถิติ 4 คน และอีก 1 คนเรียน JC จากการสอบถามพื้นความรู้เกี่ยวกับ IT ก็พบว่ามีเพียง 2 คนที่เรียนทางด้าน IT นั้นแหละที่เหมาะสมกับงานนี้ที่สุด ทำให้ผมต้องตัดสินใจอบรมความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการตรวจสอบเครือข่ายให้กับเด็กๆ พวกนี้ ให้พอมีพื้นความรู้ที่จะพอช่วยทำหน้าที่ให้บริการผู้ใช้ต่างๆ ได้
นอกจากนี้ยังมีอาสามัครที่ทำหน้าที่ป้อนข้อมูลผลการแข่งขันอีก 6 คน และอาสามัครเกี่ยวกับการจับเวลาและการถ่ายรูปตอนเข้าเส้นชัยอีก 7 คน ซึ่งทั้ง 13 คนนี้ผมยังไม่เห็นหน้าค่าตาจนกว่าจะถึงการอบรมการใช้อุปกรณ์และโปรแกรมในสัปดาห์หน้านี้ รวมแล้วก็มีอาสาสมัครช่วยงานทั้งสิ้น 19 คนที่จะต้องดูแล
โปรแกรมการอบรมนั้นมีจนถึงวันสุดท้ายก่อนการแข่งขัน 1 วันครับ ไม่แน่ใจว่าเพื่อป้องกันไม่ให้อาสามัครลืมหรือเปล่า อบรมเสร็จวันรุ่งขึ้นก็แข่งขันเลย 😉
อย่างไรก็ตามอาสาสมัครเหล่านี้ล้วนมาด้วยใจ เพราะค่าตอบแทนเพียง 200 กว่าบาทต่อวัน กับความยากลำบากในเรื่องที่พักอาศัย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ไม่มีมาอำนวยเท่าไหร่นั้น ไม่คุ้มค่าเหนื่อยเลย สิ่งที่คุ้มค่าก็คงจะเป็นประสบการณ์ที่ได้ติดตัวกลับไป
ในช่วงเย็นๆ วันที่ 1 ส.ค. ก็มีการติดตั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเดินสายเน็ตเวิร์คในห้องควบคุม เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งมีทั้งหมดสิบกว่าเครื่อง ผมก็ได้เข้าไปสังเกตการณ์ทีมงานติดตั้ง ซึ่งนักศึกษาที่ถูกจ้างมาช่วยงานส่วนหนึ่งก็เป็นลูกศิษย์ของผมเอง เห็นแล้วก็ไม่ทราบว่าจะดีใจหรือเสียใจกันแน่ ก็ได้แต่หวังว่าจะไม่เกิดปัญหาอะไรขึ้นในระหว่างการแข่งขันกรีฑา 6 วันข้างหน้า (9 – 14 ส.ค. 50) 😎
คอมพิวเตอร์ชุดที่ใช้ประมวลผลการแข่งขันโดยใช้โปรแกรมของ MSL
คอมพิวเตอร์ชุดที่เจ้าหน้าที่จากสมาคมกรีฑาจะใช้งาน
คอมพิวเตอร์ชุดของ Swiss Timing ซึ่งจะต่อเข้ากับเครื่องถ่ายภาพที่เส้นชัย
และเครื่องจับเวลาการแข่งขัน
สวิทช์หลักของ Main Stadium เชื่อมไปยังเครือข่ายหลักผ่านไฟเบอร์ออปติก
สวิทช์อีก 8 ตัวที่ยังไม่ได้ถูกติดตั้ง เมื่อถูกติดตั้งแล้วจะกระจายไปอยู่ในส่วนต่างๆ ของสนาม
ซึ่งผมจะต้องดูแลด้วย เลยต้องแปะ Post-it บอกไว้ว่า ก่อนจะทำไปติดตั้งกรุณาโทรแจ้งด้วย จะได้รู้ว่าสวิทช์เหล่านี้จะไปสิงสถิตย์อยู่ที่ไหนบ้าง