พระบรมราโชบายขนานนามสกุล
โดย จุลลดา ภักดีภูมินทร์
ฉบับที่ 2591 ปีที่ 50 ประจำวัน อังคาร ที่ 15 มิถุนายน 2547
-ผมเกิดจังหวัดเพชรบูรณ์ จะขอเปลี่ยนนามสกุลเดิมของบิดา เป็น ‘ณ เพชรบูรณ์’ได้หรือไม่ เพราะยังไม่เห็นมีนามสกุลนี้เลย-
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัตินามสกุล พ.ศ.๒๔๕๖
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัตินามสกุล พ.ศ.๒๔๕๖
ในภาพ ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ด้วย พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เมื่อโปรดเกล้าฯทรงประกอบพิธีอภิเษกสมรสด้วยพระนางเจ้าฯ แต่ยังทรงเป็นเจ้าจอมสุวัทนา
มีพระบรมราโชบายในการขนานนามสกุลหลายข้อ ข้อที่เกี่ยวกับเกณฑ์ภูมิลำเนานั้น มีว่า
“๔. (ก.) เกณฑ์ภูมิลำเนา คือ (ตั้ง) ตามนามตำบลที่อยู่ เช่น ‘สามเสน’ ‘บางขุนพรหม’ ‘บางกระบือ’ แต่ห้ามมิให้มี ‘ณ” อยู่ข้างหน้านามตำบล เพราะ ณ จะมีได้แต่ที่พระราชทานเท่านั้น”
แต่เมื่อเป็นเพียงประกาศพระบรมราโชบาย มิใช่พระบรมราชโองการ และมิได้ตราเป็นพระราชบัญญัติจึงปรากฎว่า ยังมีผู้ใช้ ‘ณ’ นำนามสกุลอยู่
ใน พ.ศ.๒๔๕๘ จึงโปรดเกล้าฯให้ประกาศพระบรมราชโองการว่า
“ได้มีประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๘ สั่งว่า ห้ามมิให้ใช้ ‘ณ’ นำหน้านามสกุล ผู้ใดใช้ไปก่อนประกาศนี้ให้ถอน ‘ณ’ ออกเสีย ถ้าผู้ใดมีความประสงค์จะใช้ให้นำเรื่องราวขอพระบรมราชานุญาตเสียก่อน”
ทั้งนี้เพราะคำว่า ‘ณ’ สำหรับโปรดเกล้าฯ พระราชทาน เฉพาะสกุลที่สืบเชื้อสายลงมาจาก เจ้าผู้ครองนคร หรือผู้ว่าราชการเมือง (ก่อนเรียกกันว่าจังหวัด) เท่านั้น
แม้ในปัจจุบันจะใช้พระราชบัญญัตินามสกุล พ.ศ.๒๕๐๕ ซึ่งตราขึ้นในสมัย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยกเลิก พระราชบัญญัตินามสกุล พ.ศ.๒๔๕๖ ทว่าพระบรมราชโองการประกาศ เกี่ยวกับคำว่า ‘ณ’ คงจะยังถือปฏิบัติกันอยู่ จึงมิได้มีผู้ใดขอตั้งนามสกุลอันขึ้นต้นด้วยคำ ‘ณ’
ไหนๆก็ถามมาแล้ว จึงได้คุ้นนามสกุลพระราชทานที่ขึ้นต้นว่า ‘ณ’ ทั้งเหตุผลที่โปรดฯ พระราชทานแก่ผู้ขอด้วย
นามสกุลพระราชทานในรัชกาลที่ ๖ ขึ้นต้นว่า ‘ณ’ หน้าชื่อเมืองมี ๒๑ นามสกุล
๑. ณ กาฬสินธุ์ พระราชทาน พระยาไชยสุนทร (เก) ทวดและปู่เป็นเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ เชื้อสายเจ้าเมืองกาฬสินธุ์มาแต่ก่อน
๒. ณ จัมปาศักดิ์ พระราชทานเจ้าศักดิ์ประสิทธิ์ (เจ้าเบงคำ) เจ้าศักดิ์ประเสริฐ์ (เจ้าอุย) บุตรชายเจ้านครจัมปาศักดิ์ ซึ่งเข้ามารับราชการในเมืองไทย ไม่ยอมอยู่ในบังคับฝรั่งเศส
๓. ณ เชียงใหม่ พระราชทานเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่
๔. ณ ตะกั่วทุ่ง พระราชทาน พระราชภักดี (หร่าย) ยกระบัตรมณฑลปัตตานี ทวดและปู่เป็นผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วทุ่ง
๕. ณ ถลาง พระราชทานพระยา ๓ ท่าน ซึ่งร่วมทวดเดียวกัน ทวดเป็นพระยาถลาง
๖. ณ นคร พระราชทาน เชื้อสาย เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ที่ว่าเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๗. ณ น่าน พระราชทาน ผู้สืบสกุลจากพระเจ้าสุริยพงษผริตเดช พระเจ้าน่าน
๘. ณ บางช้าง พระราชทานสำหรับพระญาติวงศ์ของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นราชินิกุลในรัชกาลที่ ๒
๙. ณ ป้อมเพ็ชร์ สกุลนี้เดิมตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ป้อมเพชรกรุงเก่า มีชื่อเสียงอยู่ในกรุงเก่า
๑๐. ณ พัทลุง พระราชทานผู้สืบสายจากเจ้าเมืองพัทลุง สายสุลต่านสุลัยมาน ผู้เป็นเจ้าเมืองพัทลุงมาหลายชั้น ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา
๑๑. ณ พิศณุโลก พระราชทานหม่อมคัทริน ใน สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ก่อนพระราชทานนามสกุล ‘จักรพงศ์’ในรัชกาลที่ ๗
มีผู้ใช้นามสกุลนี้เพียงท่านเดียว คือ หม่อมคัทริน
๑๒. ณ มโนรม ทวดและปู่ของผู้ขอพระราชทาน เป็นผู้ว่าราชการเมืองมโนรม
๑๓. ณ มหาไชย พระราชทานพระยาเทพทวาราวดี (สาย) อธิบดีกรมมหาดเล็ก ข้าหลวงเดิม และเคยเป็นเจ้ากรมเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระอิสริยยศ เป็นกรมขุนเทพทวาราวดี พระยาเทพฯ มีภูมิลำเนาอยู่ตำบลมหาไชย
๑๔. ณ ระนอง พระราชทานแก่ผู้สืบเชื้อสายพระยาระนองคนแรก คือพระยาดำรงมหิศร์ภักดี (คอซู้เจียง)
๑๕. ณ ร้อยเอ็จ พระราชทานแก่พระยาขัติยะวงศา (หลา) ผู้ว่าราชการเมืองเมืองร้อยเอ็จ ซึ่งเป็นเชื้อสายเจ้าเมืองร้อยเอ็จมาแต่ครั้งทวด ปู่ และบิดา
๑๖. ณ ลำปาง พระราชทานผู้สืบเชื้อสายเจ้านครลำปาง (เจ้าเจ็ดตน)
๑๗. ณ ลำพูน พระราชทานผู้สืบเชื้อสายเจ้านครลำพูน (เจ้าเจ็ดตน)
๑๘. ณ วิเชียร ปู่และบิดาเคยเป็นผู้ว่าราชการเมืองวิเชียรบุรีในจังหวัดเพชรบูรณ์
๑๙. ณ สงขลา พระราชทานผู้สืบสกุล เจ้าพระยาสงขลา
๒๐. ณ หนองคาย พระราชทานผู้สืบสายเจ้าเมืองนครหนองคายมาแต่ปู่และบิดา
๒๑. ณ อุบล พระราชทานพระอุบลประชารักษ์ (เสือ) ทวดเป็นพระประทุมวงศา (คำผา) เจ้าเมืองอุบลคนแรก
นอกจากนามสกุล ‘ณ’ โดยตรงแล้ว ยังมีอีก ๗ สกุล ที่โปรดฯให้ใช้ ‘ณ’ ต่อท้ายนามสกุลที่แยกออกจาก ‘ณ’ เดิม คือ
๑. โกมารกุล ณ นคร
๒. ประทีป ณ ถลาง
๓. สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง
และอีก ๕ นามสกุลที่โปรดฯให้ใช้ ‘ณ’ ตามหลังนามสกุล คือ
๑. พรหมสาขา ณ กลนคร พระราชทานให้พระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ) เชื้อสายเจ้านครสกลนครมาแต่ครั้งทวด (พระบรมราชา)
๒. ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม เชื้อสายเจ้าเมืองมหาสารคามมาแต่ทวด เจ้าราชวงศ์ (หล้า)
๓. รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เชื้อสายพระภูเก็ตโลหเกษตรรักษ์
๔. สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง แยกจาก ณ พัทลุง โปรดเกล้าฯ พระราชทานว่า สุคนธาภิรมย์ เพราะผู้ขอพระราชทานมีปู่ชื่อกลิ่น บิดาชื่อชม
๕. สุนทรกุล ณ ชลบุรี นามสกุลนี้พิเศษกว่า ‘ณ’ อื่นๆ ด้วยเป็นนามสกุลสืบทอดมาจาก ‘เจ้า’ ผู้ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นจากสามัญชน ที่มิได้มีเชื่อสายเกี่ยวข้อง หรือเกี่ยวดองกับพระบรมราชจักรีวงศ์ เจ้านามพระองค์นี้ คือ กรมขุนสุนทรภูเบศร์ พระนามเดิมว่า ‘เรือง’ หรือ ‘จีนเรือง’ เป็นชาวเมืองชลบุรี เป็นผู้มีอุปการคุณแก่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อเสด็จยกทัพไปตีจันทบุรี จีนเรืองรักใคร่ชอบพอกับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทมาก ถึงแก่ได้ร่วมสาบานเป็นพี่น้องกัน เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เสด็จปราบดาภิเษก จึงทรงสถาปนาขึ้นเป็น เจ้า ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระอนุชาธิราช พระราชทานให้สร้างวังอยู่ปากคลองวัดชนะสงคราม (หรือปากคลองโรงไหม) ตรงข้ามวังหน้า ถึงรัชกาลที่ ๓ พระราชทานให้เป็นวังเจ้าฟ้าอิศราพงศ์
กรมขุนสุนทรภูเบศร์ นี้ได้เป็นเจ้าแต่เฉพาะองค์เดียว ลูกมิได้เป็นเจ้าด้วย ทว่าผู้ขอพระราชทานนามสกุล จดไว้ว่า ‘หม่อมหลวงจาบ’ เห็นทีพวกลูกหลานคงเรียกกันว่า ‘หม่อม’ ตามที่เรียกยกย่องพวกผู้ดีมีสกุลมาแต่ครั้งอยุธยา เมื่อถึงรัชกาลที่ ๔-๕ จึงโปรดฯให้เป็นหม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง ด้วยถือว่าเป็นแต่ราชนิกุล ไม่ใช่เจ้า
ยังมี นามสกุล ‘ณ’ อีกสกุลหนึ่ง คือ ‘ณ ราชสีมา’ และ ‘อินทรกำแหง ณ ราชสีมา’ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจาก เจ้าพระยากำแหงสงคราม (ทองอิน) ผู้ว่าราชการเมืองนครราชสีมา ท่านผู้นี้มีประวัติแบบเดียวกันกับเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) คือว่ากันว่าเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยโปรดพระราชทานเจ้าจอมยวน ซึ่งกำลังตั้งครรภ์อยู่ในแก่เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น)
นามสกุล ‘ณ ราชสีมา’ และ ‘อินทรกำแหง ณ ราชสีมา’ ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๔ นี้
แหล่งข้อมูลอื่น:
ขอบคุณ ที่ทำให้ผมได้รู้ ประวัติ ของนามสกุล ของผม คับ
ขอบคุณครับสำหรับความรู้
กะลังสืบประวัติต้นตระกูลอยู่พอดี
ข้อความสมบูรณ์และมีประโยชน์มากเลยครับ
พอดีว่ามีความสงสัยมาตลอดเป็นเวลานานแล้วครับว่า นามสกุลของอาจารย์ท่านหนึ่งที่เคยสอนผมมา มีคำว่า ณ ในนามสกุลด้วย แต่เมื่อไปค้นหารายละเอียดและข้อมูลต่างๆ ในรายชื่อนามสกุลที่ล้นเกล้า รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระราชทาน กลับไม่พบว่ามีนามสกุลนี้เลยครับ ไม่ทราบว่าผู้ใดพอจะค้นหาข้อมูลให้ได้บ้างครับ นามสกุลนั้นคือ ปราบ ณ ศักดิ์ ครับเพราะสงสัยว่า มีคำว่า ณ ปรากฏอยู่ใน นามสกุลได้อย่างไร
ขอบคุณมากนะค่ะ ที่ทำให้ทราบประวัติของนามสกุลตัวเอง แต่อยากทราบเชื้อสายสกุลของตัวเองให้มากกว่านี้ ถ้ามีท่านได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับ ณ มหาสารคาม ช่วยกรุณาบอกข้อมูลด้วยนะค่ะ เพราะอยากทราบเกี่ยวกับประวัติเชื้อสายตระกูลของตัวเองให้มากกว่านี้ค่ะ @_@ 😛
มี ณ ปัตตานีด้วยคับ ทำไม่ไม่มีในประวัติเลยละคับ
แล้ว ณ ชัย อ่ะ ไม่เห็นมีเหมือนกันเลย
ใครทราบช่วยตอบด้วยนะ
ขอบคุณครับ ขอบคุณ
ขอบคุณมากค่ะ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับต้นตระกูล ณ ราชสีมา ทำให้มีความรู้-ภาคภูมิใจ ในต้นตระกูลบรรพบุรุษ
อยากทราบต้นตระกูล ณ วารี
อยากทราบประวัติของ ตระกูล.. ณ ปางวัว ..ครับ มีใครพอรู้บ้าง ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับนามสกุลของตัวเองครับ