จากประสบการณ์การทำแผ่นไดรเวอร์หายของผม ทำให้ผมรู้ว่าแผ่นไดรเวอร์นั้นมีความสำคัญและสร้างความเดือดร้อนให้ได้ขนาดไหนถ้ามันหายไป นอกจากนี้ผมพบว่าระบบการจัดเก็บแผ่นไดรเวอร์ต่างๆ ของผมเองยังไม่ดีนัก เพราะยังมีโอกาสที่จะหายได้อีก ยังไม่นับรวมไปถึงแผ่นไดรเวอร์ของอุปกรณ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ยี่ห้อ Sony ด้วย
ผมไม่เถียงว่านี่คือความรับผิดชอบตรงของผู้บริโภคที่จะต้องเก็บรักษาแผ่นไดรเวอร์ไว้ให้ดี แต่โอกาสที่จะสูญหายมันก็เกิดขึ้นได้ แน่นอนว่าไม่มีใครอยากจะทำของหายหรอก อันที่จริงแล้วนอกจากการสูญหาย การเก็บรักษาแผ่นซีดีที่ไม่ดี ลักษณะการใช้แผ่นซีดีแบบไม่ถูกวิธี ทำให้แผ่นมีรอยขีดข่วนจนใช้ไม่ได้ ก็เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งของผู้ใช้ ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะต้องติดต่อขอรับแผ่นใหม่จากผู้ขาย
ในเว็บของ Sony เองก็มีบริการให้ดาวน์โหลดโปรแกรมเหมือนกัน แต่จะเป็นลักษณะของการ update ตัวโปรแกรมที่ผู้ใช้มีอยู่ในมือแล้ว คือคุณต้องได้รับโปรแกรมแผ่นต้นฉบับ ที่มีมาพร้อมกับผลิตภัณฑ์ และคุณจะต้องเก็บรักษามันให้ดีที่สุด หากโปรแกรมนั้นมีการปรับปรุงพัฒนาเป็นเวอร์ชันใหม่ ยังไงเสียคุณก็ต้องลงมันตั้งแต่เวอร์ชันแรกสุด แล้วค่อยไล่ลงตัวเวอร์ชันปรับปรุง มันมาเรื่อยๆ จนถึงตัวล่าสุด
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเครื่องพิมพ์ของบริษัท Hewlett Packcard (HP) ซึ่งก็ต้องใช้ไดรเวอร์ในการติดตั้งเช่นกัน บ่อยครั้งในที่ทำงานของผมที่ไม่รู้ว่าแผ่นไดรเวอร์นั้นตกไปอยู่กับใคร เราก็ยังคงทำการติดตั้งไดรเวอร์ได้ เพราะหากทราบชื่อรุ่นแล้ว ก็จะสามารถเข้าไปโหลดไดรเวอร์จากเว็บของ HP มาติดตั้งใช้งานได้ทันที
ประสบการณ์ตรงของเพื่อนผมอีกคนหนึ่งที่หอบหิ้วเครื่อง Vaio ของ Sony กลับมาจากต่างประเทศด้วย และบังเอิญที่แผ่นไดรเวอร์ก็หายไปในระหว่างการเก็บย้ายข้าวของหลายครั้ง เขาเองก็ได้พยายามเข้าเว็บของ Sony ที่เป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งก็ไม่พบว่ามีที่ให้ดาวน์โหลดโปรแกรมไดรเวอร์แต่อย่างใด พบแต่โปรแกรมรุ่นปรับปรุงที่ต้องอาศัยแผ่นต้นฉบ้บเช่นกัน
ผมไม่ได้อยากจะกล่าวหาบริษัท Sony แต่สงสัยและข้องใจเรื่องความยุ่งยากในการได้มาซึ่งแผ่นไดรเวอร์ ผมเองก็อยากรู้ว่าบริษัทอื่นๆ มีนโยบายการดำเนินการอย่างไรใน หากผู้ใช้ต้องการขอรับแผ่นไดรเวอร์ของอุปกรณ์นั้นๆ อีกครั้ง
สรุปแล้วสิ่งที่ผู้ใช้ควรตระหนักเมื่อซื้ออุปกรณ์ต่างๆ มาใช้งาน หากมีแผ่นไดรเวอร์มาด้วย ก็ควรจะดำเนินการต่อไปนี้
- ต้องมีวิธีการเก็บรักษาแผ่นไดรเวอร์ที่ดี ยิ่งหากมีแผ่นไดรเวอร์ของอุปกรณ์หลายอย่าง ก็ควรจะมีการเขียนรายละเอียดระบุลงไปบนแผ่นเลยว่าเป็นไดรเวอร์ของอุปกรณ์อะไร เพื่อป้องกันการสับสน และควรมีการจัดเก็บให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อง่ายต่อการจัดเก็บและค้นหา
- ควรจะทำการสำเนาแผ่นไดรเวอร์ไว้ทันที และแยกเก็บไว้เป็นชุดสำรองต่างหาก (แผ่นซีดีเปล่าเดี๋ยวนี้ราคาไม่กี่บาท) ทั้งนี้หากเป็นแผ่นไดรเวอร์ของ Sony ก็ควรทำสำรองไว้หลายๆ แผ่น เผื่อจะเอาไปประกาศขายในเว็บตัดราคาแผ่นต้นฉบับที่ราคาแผ่นละ 1500 ได้ด้วย (หึหึ 😆 )
หากจำเป็นที่จะต้องติดต่อสอบถามเพื่อขอรับแผ่นไดรเวอร์จากบริษัท ผู้ใช้ก็จะต้องเตรียมชื่อและรุ่นของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ให้พร้อมก่อนทำการติดต่อไป ทั้งนี้หากเป็นบริษัทโซนี่ก็ควรจะติดต่อไปที่แผนกอะไหล่โดยตรง ห้ามโทรไปที่ Customer contact center เป็นอันขาดเพราะเพนักงานจะออกอาการหงุดหงิดรำคาญที่คุณไม่รู้เรื่องรู้ราวและโทรไปผิดที่ 😆
อย่างไรก็ตามนี่เป็นประสบการณ์ส่วนตัวของผม ท่านที่ชื่นชอบและเป็นสาวกของ Sony ผมต้องขออภัยไว้ด้วย และหลังจากนี้ผมจะเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ของยี่ห้ออื่นๆ ผมใช้อะไรของ Sony บ้าง ลองดูนะครับ
- Sony Digital Camera DSC S85 (ให้ที่บ้านไปแล้ว)
- Sony Clie PEG-TH55 (หลังจากซื้อมาแล้วก็เลิกผลิต Clie ทันที, แผ่นไดรเวอร์ยังอยู่ อยากขายต่อ แต่คงไม่มีใครอยากได้)
- Sony Handycam mini-DV (รอยกให้น้อง)
- Sony Ericsson mobile phone + radio handfree (รอทิ้ง)
Bye-bye Sony!