ระเบิดศึกโทร.ผ่านเน็ตหมื่นล. +‘ซิปโฟน-เอไอเอส-ทรู‘ มองเห็นช่องทางโกยเงิน/สั่งลุยชิงขุมทรัพย์ในอุ้งมือกสท-ทีโอที
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2137 06 ส.ค. – 09 ส.ค. 2549
“โทรฯผ่านอินเตอร์เน็ต” สมรภูมิรบแห่งใหม่ธุรกิจโทรคม ผู้ให้บริการเล็ก-ใหญ่ เรียงแถวรับใบอนุญาตจากกทช. “ซิปโฟน-เอไอเอส-ทรู” แห่ชิงส่วนแบ่งโทรข้ามประเทศหมื่นล้านจากเจ้าตลาด “กสท.-ทีโอที” ด้าน “จิรายุทธ” รับรายได้หดยอดโทรเพิ่ม หลังดัมพ์ราคาสู้ ประกาศสร้างแบนด์ โทร 001และ009 ป้องคู่แข่งรายใหม่เข้าชิงขุมทรัพย์
นายพีรเมท โรจนะสมิต ผู้จัดการบริหารระดับสูง บริษัทซิปโฟน (ไทยแลนด์) จำกัด หนึ่งในผู้ขออนุญาตให้บริการโทรศัพท์ผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต หรือว้อยท์ โอเว่อร์ ไอพี จาก คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทช. เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่าขณะนี้ได้รับแจ้งจาก กทช.ว่าได้รับอนุญาตในการเปิดให้บริการโทรศัพท์ผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ตแล้ว อย่างไรก็ตามกำลังรอรับใบอนุญาตอย่างเป็นทางการอยู่
สำหรับการทำตลาดบริการโทรศัพท์ผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ตภายใต้มาตรฐาน Session Initiation Protocol (SIP) นั้นบริษัทจะแบ่งตลาดออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มองค์กร ที่มีสาขาเป็นจำนวนมาก และกลุ่มองค์กรขนาดกลางและเล็ก ที่ต้องการลดต้นทุนการติดต่อสื่อสาร ซึ่งการทำตลาดกลุ่มลูกค้าดังกล่าวบริษัทจะเข้าไปวางระบบ โทรศัพท์ผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ตภายใต้มาตรฐาน SIPให้ลูกค้า ซึ่งลูกค้าสามารถใช้บริการฟรีได้ถึงสิ้นปี โดยขณะนี้มีฐานลูกค้าที่ใช้บริการดังกล่าวแล้วประมาณ 2,000 ราย ทั้งนี้คาดว่าภายในปีนี้จะมีลูกค้าทั้งหมด 5,000 ราย
นายพีรเมท กล่าวต่อไปว่าภายหลังได้รับใบอนุญาตจากกทช. บริษัทมีแผนขยายการทำตลาดไปยังกลุ่มคอนซูเมอร์ ผ่านช่องทางตัวแทนจำหน่าย ซึ่งลูกค้าสามารถโทรศัพท์ติดต่อกันในระบบได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนลูกค้าที่ต้องการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ บริษัทได้เชื่อมต่อเครื่องแม่ข่ายมาตรฐานซิปโฟน ในสหรัฐ และสิงคโปร์ สามารถใช้โทรศัพท์ผ่านอินเตอร์เน็ตได้ 400 ประเทศทั่วโลก
สำหรับอัตราค่าบริการเฉลี่ยอยู่ประมาณ 2 บาทต่อนาที โดยมีช่องทางการชำระเงินอยู่ 2 ช่องทางคือการโอนเงินผ่านบัญชี และการชำเงินผ่านบัตรเครดิต คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะพัฒนาบัตรเติมเงิน “ซิปการ์ด” ออกมาทำตลาดผ่านตัวแทนจำหน่ายที่มีอยู่ ขณะเดียวกันยังในไตรมาส 4 ยังมีแผนเปิดบริการภาพพร้อมเสียง ผ่านอินเตอร์เน็ต หรือ วิดีโอ โฟน
นอกจากนี้ยังพร้อมขอใบอนุญาตในการให้บริการโทรศัพท์ผ่านอินเตอร์เน็ต แบบโฟนทูโฟน และหมายเลขโทรศัพท์ผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต หรืออีโฟน จากกทช. ที่คาดว่าจะเปิดให้ใบอนุญาตประมาณปีหน้าอีกด้วย ส่วนการแข่งขันในธุรกิจ ให้บริการโทรศัพท์ผ่านอินเตอร์เน็ตมองว่ารุนแรงแน่นอน ซึ่งบริษัทเป็นผู้ให้บริการรายเล็กเท่านั้น อย่างไรก็ตามคิดว่ามีจุดได้เปรียบรายอื่นด้านการดูแลลูกค้า และโซลูชั่นบริการโทรศัพท์ผ่านอินเตอร์เน็ตครบวงจร ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ การติดตั้ง ระบบบิลลิ่ง ระบบโทรศัพท์ตอบรับอัตโนมัติ ไม่ใช้ผู้ให้บริการโทรศัพท์ผ่านอินเตอร์เน็ตอย่างเดียว
ด้านนางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานประชาสัมพันธ์ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส กล่าวว่า คณะกรรมการกทช. ได้อนุมัติให้บริษัทเอไอเอส อินเตอร์เนชั่นแนล เน็ทเวิร์ค จำกัด ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่ 3 บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ตามที่บริษัทเอสไอเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทย่อยของ
บมจ. เอสไอเอส ได้ยื่นขอใบประกอบการดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2549 โดยบริษัทดังกล่าวจะทำธุกริจให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการนอกเหนือจากการให้บริการของ บมจ.ทีโอที และบมจ.กสทโทรนาคม
ขณะที่ นายธิติฏฐ์ นันทพัฒน์สิริ ผู้อำนวยการบริหาร ด้าน โฮม/คอนซูเมอร์โซลูชั่น และไฮสปีด แอคเซส บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) กล่าวว่าจากการที่บริษัททรูอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นบริษัทลูก ได้รับใบอนุญาตให้บริการโทรศัพท์ผ่านอินเตอร์เน็ต หรือ VoIP จากกทช. ในลักษณะการใช้งานบนรูปแบบเชื่อมต่อผ่านคอมพิวเตอร์ ไปยังโทรศัพท์ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทสามารถเปิดบริการ “ทรูเน็ตทอล์ค” ผ่านเทคโนโลยี VoIP ซึ่งถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของทรู ในการเป็นผู้ให้บริการสื่อสารครบวงจรรายเดียว และเป็นอีกทางเลือกของบริการโทรศัพท์ ให้กับผู้ใช้ในราคาแบบประหยัด ที่คุ้มค่ากว่าโดยเฉพาะการโทร ทางไกลทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่
ส่วนนายมารุต บูรณะเศรษฐกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานตลาดและการขาย บริษัทกสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่ากลยุทธ์การทำตลาดบริการโทรระหว่างประเทศของบริษัทเพื่อรองรับการเข้ามาแข่งขันของผู้ให้บริการรายใหม่ที่ได้รับใบอนุญาติให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต หรือว้อทย์โอเว่อร์ ไอพี จากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทช. คือ การสร้างแบรนด์บริการ 001 และ 009 เพื่อตอกย้ำสร้างภาพลักษณ์บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องและพยายามรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดบริการโทรระหว่างประเทศเอาไว้ ขณะเดียวกันก็จะมุ่งผลักดันบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศผ่านอินเตอร์เน็ตแบบโฟนทูโฟนภายใต้ชื่อ”แคททู คอลล์ พลัส” มากขึ้น
นอกจากนี้ยังเปิดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ เข้ามาใช้โครงข่ายของ กสท. ที่ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศมาเป็นเวลานาน ทำให้มีโครงสร้างพื้นฐานการให้บริการที่มีความพร้อมมากสุด ซึ่งการเข้ามาใช้โครงข่ายของกสท.นั้นจะช่วยให้ผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายการลงทุนลงไป
“ตอนนี้เทรนธุรกิจโทรศัพท์ระหว่างประเทศทั่วโลกมีการชะลอตัวลงอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้มีการชะลอตัวช้าที่สุด ขณะเดียวกันเราต้องสร้างแบนด์บริการ 001 และ009 ให้เกิดเพื่อป้องกันไม่ให้คู่แข่งรายใหม่เข้ามาในตลาด”
อนึ่งครึ่งปีแรกของปี 2549 ที่ผ่านมา บมจ. กสท โทรคมนาคม มีรายได้ 14,737 ล้านบาท มีสัดส่วนรายได้จากค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศมากสุด คือ 33% ในขณะที่ครึ่งปีแรกของปี 2548 บมจ.กสท โทรคมนาคม มีรายได้ 14,830 ล้านบาท มีสัดส่วนรายได้จากค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ 40% โดยสาเหตุที่ทำให้รายได้จากค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศลดลงเป็นผลมาจากการลดอัตราค่าบริการ 009 ลงมาเหลือนาทีละ 5 บาท
ด้านจิรายุทธ รุ่งศรีทอง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน บมจ.กสท. โทรคมนาคม กล่าวเสริมว่า แนวโน้มอัตราค่าบริการโทรระหว่างประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนนาทีในการโทรมีมากขึ้น ซึ่งบริษัทจะพยายามรักษาส่วนแบ่งตลาดในส่วนของจำนวนนาทีในการโทรเอาไว้ ขณะเดียวกันจะมุ่งเสริมมูลค่าเพิ่มให้กับบริการ โดยทำตลาดร่วม หรือบัลเดิลบริการโทรระหว่างประเทศไปกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอ
สำหรับทางบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่ให้บริการโทรทางไกลระหว่างประเทศผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 007 และ 008 โดยนายอดิศร์ หะริณสุต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักงานการตลาด กล่าวว่า กรณีที่ กทช. ออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการเพื่อให้บริการโทรทางไกลระหว่างประเทศนั้นเชื่อว่าสำหรับ บมจ. ทีโอที แล้วไม่มีผลกระทบเนื่องจากมีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 10-20% เท่านั้นสามารถขยายฐานเพิ่มเติมได้อีก
“เค้กก้อนนี้ในอดีตเป็นของ กสท.เมื่อมีผู้เล่นเพิ่มขึ้นคนที่ถูกกระทบก็คือบมจ.กสท.”
นอกจากนี้แล้ว บมจ.ทีโอที เตรียมขยายช่องวงจรเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับกับจำนวนการใช้งานที่เพิ่มขึ้นโดยในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ บมจ.ทีโอที จะมีโปรโมชั่นสำหรับบริการโทรทางไกลระหว่างประเทศ 007 และ 008 อีกด้วย
หลากหลายวิธีโทรข้ามประเทศ
บริการโทรระหว่างประเทศมีหลากหลายรูปแบบ รูปแบบที่เป็นที่นิยมใช้บริการปัจจุบัน คือ บริการแบบเรียกเก็บบิล ของบมจ. กสท โทรคมนาคม ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถกดรหัส 001 เพื่อเรียกติดต่อไปยังประเทศปลายทาง ได้ทุกมุมโลกด้วยตัวเองกด (001 + รหัสประเทศ + รหัสเมือง + หมายเลขปลายทาง) หรือ CAT 009 บริการโทรทางไกลระหว่างประเทศโทรประหยัด อัตราเดียวตลอด 24 ชั่วโมง ครอบคลุม 152 ประเทศทั่วโลก โดยผู้ใช้เพียงกด 009 จากโทรศัพท์บ้านและโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย โทรจากเครื่องโทรศัพท์บ้าน หมายเลขของ true , TT&T และ PCT เครื่องโทรศัพท์มือถือทุกระบบ (AMPS, CDMA,DTAC, AIS,ORANGE)กด 009 + รหัสประเทศ + รหัสเมือง + หมายเลขโทรศัพท์ สำหรับเครื่องโทรศัพท์บ้าน ของ TOT กด 001-809 + รหัสประเทศ + รหัสเมือง + หมายเลขโทรศัพท์ นอกจากนี้ยังมีบริการแบบพรีเพดการ์ด CAT Thai card และ CAT Phone Net
ส่วนช่องทางโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่มีผู้เปิดให้บริการมากขึ้น คือบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต หรือไอพี โฟน โดยมีทั้งรูปแบบ พีซีทูโฟน ที่ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนโทรศัพท์ลงบนคอมพิวเตอร์ และใช้ไมโครโฟนพร้อมหูฟัง โทรไปยังโทรศัพท์ปลายทางต่างประเทศได้ทันที นอกจากนี้ยังมีบริการไอพี โฟน แบบโฟนทูโฟน เทคโนโลยี Session Initiation Protocol หรือที่เรียกกันว่า SIP Phone โดยมีเลขหมายสำหรับการติดต่อและรับสายเรียกเข้าได้ด้วย สามารถใช้บริการผ่าน อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต โดยต้องมีความเร็วอินเตอร์เน็ตตั้งแต่ระดับ 128 กิโลบิต ขึ้นต้นไป