Flickr


ภาพอ่าวไร่เลย์

Originally uploaded by gTar.

รูปและข้อความนี้โพสจาก Flickr นึกไม่ถึงเลยว่าจะทำได้ถึงขนาดนี้ อืมม…

ในที่สุดผมก็ตัดสินใจใช้บริการของ Flickr แทน Webshots ด้วยเหตุผลด้วยคุณสมบัติที่อำนวยสะดวกสบายมากกว่า เช่น การสร้างและจัดการอัลบั้มใช้วิธีการ drag & drop ซึ่งสะดวกมาก ที่สำคัญคือสามารถเพิ่มข้อความหมายเหตุ (note) ลงไปในรูปภาพได้เลย อีกอย่างที่สำคัญก็คือเรื่องของการจัดหมวดหมู่ หรือ cluster ของรูปภาพ ซึ่งผู้ใช้สามารถสร้างกลุ่มของรูปภาพขึ้นมาได้ และส่งรูปภาพของตัวเองเข้ากลุ่มต่างๆ ทำให้เกิด community ของรูปภาพขึ้นมา

สังเกตไหมว่า…

เพื่อนต่างชาติคนนึง สังเกตว่า

  • ภาพโปเตอร์โฆษณาต่างๆ มักจะเป็นรูปอาคาร รูปตึก สิ่งก่อสร้าง … ทำไมต้องเป็นรูปตึก เป็นรูปอย่างอื่นไม่ได้หรือ? แปลว่าจะทำอะไรก็ต้องมีตึกเสียก่อน?
  • เวลาจะขอความช่วยเหลือจากรปภ. ถ้าพูดด้วยดีๆ จะไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ดี ต้องวางก้าม แสดงอำนาจ ถ้าแสดงท่าทีอ่อนกว่า มักจะไม่ได้รับความช่วยเหลือที่ดี…
  • คนไทยมักคำนึงถึงเรื่องอาหารการกิน … กินข้าวหรือยัง หิวไหม ทานอะไรหรือยัง … เพื่อนฝรั่งบอกนึกในใจ “ไม่เป็นไร ไอหากินเองได้”

พูดถึงรปภ. ก็มีเรื่องเล่า เมื่อวันก่อนนั่งทานข้าวในโรงอาหารในห้องทานข้าวของอาจารย์และเจ้าหน้าที่ประมาณบ่ายกว่าๆ เหลือกันอยู่แค่โต๊ะเดียว และกำลังคุยกับเพื่อนที่ทำงานอย่างเมามัน รปภ.ผู้หญิงคนนึงถือจานข้าวเดินเข้ามานั่งทานในห้อง แต่ไม่เป็นไร เพราะไม่มีใครแล้ว

สักพักเธอเดินไปเปิดทีวี นั่งกินข้าวไปดูทีวีไป … ผมนึกในใจ โอ้… พวกเราก็นั่งกันอยู่ใกล้ๆ เธอก็ไม่สนใจ แต่เธอสามารถทำอย่างนี้ได้ในเวลางานเหรอ? ดูทีวีไป ทานข้าวไป เหมือนอยู่บ้าน

หลังจากนั้นอีกไม่นาน เนื่องจากพวกเราคุยเสียงดัง ทำให้เธอไม่ได้ยิน เธอก็เลยไปปรับเสียงทีวีให้ดังขึ้น แข่งกับพวกเราที่คุยกันอยู่ … ผมสุดจะทน คนอื่นก็เหมือนกัน พี่คนนึงลุกขึ้นไปบอก พูดด้วยดีๆ ว่า ไม่ควรทำอย่างนี้นะ นี่ไม่สมควร และเธอเป็นรปภ. หน้าที่คือการดูแลความสงบเรียบร้อย ไม่ใช่มาสร้างปัญหาเสียเอง หากหัวหน้าเธอมาเห็นเข้าเธอจะเดือดร้อนนะ

ไม่รู้ว่าเธอเข้าใจหรือเปล่า แต่ก็มีอาการตอบโต้ ฟึดฟัดปิดทีวี เดินออกไปเลย … อาการแบบนี้ ไม่น่าจะเข้าใจ 🙁

Sender Policy Framework (SPF)

ผมหยิบ eweekthailand ขึ้นมาอ่าน มีบทความตอนหนึ่งชื่อ”ระบบตรวจสอบผู้ส่งอีเมลยังไม่สดใส” ในบทความบอกว่ามีงานประชุม Email Authentication Implementation Summit 2005 ซึ่งถูกจัดขึ้นเพราะธรุกิจต่างๆ กำลังได้รับผลกระทบจากพวกสแปม ฟิชชิ่ง และไวรัส

เขาบอกว่าในงานมีการพูดถึง Sender Policy Framework (SPF), Sender ID Framework (SIDF) จากไมโครซอฟท์ และ DomainKeys Identification Mail (DKIM) จากความร่วมมือระหว่าง Cisco และ Yahoo!

หลักการของทั้ง 3 อย่างนั้นไม่แตกต่างกัน ก็คือใช้วิธีการที่จะตรวจสอบว่าอีเมลที่รับเข้ามาจากนั้น เป็นอีเมลที่มาจากต้นตอจริงๆ ไม่ใช่ถูกปลอมมาจากพีซีของพวกสแปมเมอร์ ซึ่งแน่นอนว่าเจ้าของโดเมนก็ต้องทำการเพิ่มข้อมูลหรือแก้ไขให้ผู้รับสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้

DKIM ถูก submit กับ Internet Engineering Task Force (IETF) และถูกพิจาณาในช่วง 31 ก.ค. – 5 ส.ค. 48 ที่ผ่านมา ผลเป็นไงยังไม่ทราบ แต่ตอนนี้ Yahoo! ใช้ DKIM ไปแล้ว ส่วน Hotmail ก็ใช้ SIDF ไปแล้วเหมือนกัน

บังเอิญมากเลยที่ search ไปเจอ blog ของผู้เข้าร่วมประชุม IETF ครั้งนี้ ลองเข้าไปอ่านดูก็แล้วกันครับ

นกกระจิบทุ่ง

วันนี้ขอโพสภาพแถมอีกนิด ผมถ่ายรูปนกตัวนี้ได้โดยไม่ได้ตั้งใจ อยู่ดีๆ เขาก็บินมาเกาะอยู่ข้างหน้า เป็นนอกอะไรผมดูไม่ออก เอาไว้ถามผู้รู้ได้แล้วจะมาโพสชื่ออีกทีครับ

ถามชื่อมาแล้วครับ นกตัวนี้คือ นกกระจิบทุ่ง ครับ

เรื่องเกี่ยวกับบล็อก (blog)

ผมเขียนบทความลงนิตยสาร Hi-Class ฉบับ 242 วางแผงในเดือนตุลาคมนี้ ในเรื่องที่เกี่ยวกับบล็อก ตอนเขียนก็ search หาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งก็ได้ข้อมูลมาพอสมควร ข้อมูลที่หาเจอมาบางอย่างน่าจะมีประโยชน์ที่จะใช้ต่อในภายหลัง ก็เลยขอสรุปรวมสั้นๆ ไว้ตรงนี้

  • Corporate Blogs list
    เป็นเว็บที่รวบรวมรายชื่อของบริษัทต่างๆ ที่มี corporate blog
  • Corporate Blogging and the CIO
    เป็นบทความที่กล่าวถึงการนำ blog ไปใช้กับองค์กรเป็น coporate blog โดยมีบทสัมภาษณ์ CIO ของบริษัท Sun Microsystems ที่ถือว่าเป็นบริษัทแรกๆ ที่เป็นผู้บุกเบิกนำ blog ไปใช้ โดยเชื่อว่า blog ทำให้ผู้บริหารของบริษัทสามารถที่จะสื่อสารกันได้โดยอิสระ
  • Corporate Blogging Policy
    เป็นการยกตัวอย่าง policy ในการเขียนบล็อกของบริษัทต่างๆ รวมทั้งมี link ไปยัง policy ของบริษัทต่างๆ เช่น Yahoo ด้วย
  • Corporate blog policy compared
    เป็นการนำ policy ของบริษัทต่างๆ ได้แก่ IBM, Yahoo, Hill & Knowlton, Plaxo, Thomas Nelson, Feedster, Groove และ Sun มาเปรียบเทียบกัน ว่า policy ใดที่เหมือนกัน และบริษัทต่างๆ ให้ความสำคัญกับ policy ใดบ้าง
  • Gotoknow.org
    เว็บนี้พลาดไม่ได้ เพราะไม่ควรพลาด เนื่องจากน่าจะเป็นเว็บแรกในไทยที่มีการประยุกต์ใช้บล็อกในการจัดการความรู้ ได้รับการสนับสนุนโดย สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) เข้าไปอ่านแล้วจะได้ความรู้เกี่ยวกับ knowledge management ครับ

ละเมิดสัญญากับ online journal (2)

เมื่อสักประมาณเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ที่นักศึกษาดาวน์โหลดเอกสารทางวิชาการ (paper) จำนวนมากจากฐานข้อมูลออนไลน์ ASCE journal ที่ผมเคยเขียนไว้ในตอนผิดสัญญากับ Online journal

หลังจากสืบจนพบว่ามาจากเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องไหน และใครเป็นคนใช้งาน ก็พบว่าเป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของภาควิชาหนึ่ง ซึ่งในท้ายที่สุดก็ถูกภาควิชาทำทัณฑ์บนพร้อมทั้งระงับการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต 2 เดือน ในส่วนของศูนย์คอมพิวเตอร์เองก็ได้รีบออกหนังสือแจ้งเตือนไปยังทุกภาควิชา เพื่อให้กำชับนักศึกษาในสังกัดของตนเอง โดยเฉพาะนักศึกษาในระดับบัญฑิตศึกษา ซึ่งผมก็เป็นกังวลอยู่ว่าภาควิชาจะให้ความสำคัญแก่เรื่องนี้มากแค่ไหนกัน

แล้วความกังวลของผมก็เป็นจริง เมื่อหลังจากนั้นอีกแค่เดือนกว่าๆ ในสัปดาห์ที่แล้วหอสมุดได้แจ้งมาว่า ได้มีผู้ดาวโหลดเอกสารวิชาการจาก Science Direct จำนวน 1000 ไฟล์ภายในระยะเวลา 45 นาทีของช่วงเวลาตี 4 กว่าๆ โดยทาง Science Direct ต้องการให้ทางหอสมุดดำเนินการตรวจสอบ หากพบว่าเป็นการหากละเมิดข้อตกลง ขอให้แจ้งให้ผู้ละเมิดหยุดการกระทำดังกล่าว และทาง Science Direct มีสิทธิ์ที่จะยกเลิกการให้บริการกับมหาวิทยาลัย

จาก IP Address ที่ปรากฎและช่วงเวลาทำให้สามารถระบุได้ว่ามาจากภาควิชาใดและน่าจะเป็นนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาอีกเช่นกัน จากการสอบถามนักศึกษาพบว่านักศึกษายังไม่ได้รับทราบเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ และไม่ได้รับแจ้งเตือนจากภาควิชาในเรื่องของการดาวน์โหลดเอกสาร

นักศึกษาคนนี้ใช้โปรแกรมช่วยดาวน์โหลดเอกสาร ทำให้ดาวน์โหลดได้จำนวน 1000 ฉบับมาภายใน 45 นาที นักศึกษาต้องการดาวน์โหลดมาเพื่อนำมาใช้อ่านในภายหลัง ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าจะทำแบบนั้นทำไม เพราะนักศึกษาก็สามารถทำการดาวน์โหลดได้ตลอดเวลาที่ต้องการอยู่แล้ว ขณะนี้นักศึกษาท่านนี้กำลังอยู่ในระหว่างถูกสอบสวนโดยภาควิชาต้นสังกัด

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่านักศึกษาไม่ทราบ หรือไม่ได้มีความตระหนักเลยถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของเขา โดยไม่สนใจว่าการกระทำดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับใครบ้าง เรียกได้ว่าไม่มีสามัญสำนึกในการใช้เครือข่าย อาจจะเป็นเพราะว่าใช้งานง่าย ใช้งานสะดวก จนทำให้นึกว่าตนเองจะทำอะไรก็ได้

เร็วๆ นี้อีกเช่นกัน ผมพบว่าห้องปฏิบัติการโครงงานที่ผมเดินผ่านมักจะมีนักศึกษาคนหนึ่งนั่งใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ประจำ คอมพิวเตอร์เครื่องนี้วางติดกับกระจกบริเวณทางเดิม เมื่อมองเขาไปจะเห็นด้านหลังเครื่อง แต่จะไม่ทราบว่านักศึกษาทำอะไรอยู่ หากมองในแง่ดีก็คิดว่านักศึกษาคงนั่งหาข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในโครงงานของตัวเอง แต่ก็มีความสงสัยอยู่ในใจว่าจริงหรือไม่?

ในวันสุดสัปดาห์ทีผ่านมาผมและอาจารย์อีกท่านก็เดินเข้าไปสำรวจในห้องปฏิบัติการ แล้วก็พบว่าเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ได้ถูกเปิดทิ้งไว้ เมื่อตรวจสอบดูก็พบว่านักศึกษารันโปรแกรม P2P ที่ใช้สำหรับดาวน์โหลดไฟล์ทิ้งไว้ และไฟล์ที่ดาวน์โหลดก็เป็นพวกหนังอย่างว่าทั้งนั้น ผมกับอาจารย์ท่านนั้นมองหน้ากันแล้วก็หัวเราะ พร้อมกับพูดว่า “นึกแล้วเชียว”

เหตุการณ์พวกดาวน์โหลดไฟล์ต้องห้ามต่างๆ นั้นไม่ใช่เรื่องแปลก และพบได้ทุกที่ แต่ที่น่าเจ็บใจคือ นักศึกษาทำต่อหน้าอาจารย์ที่เดินผ่านไปผ่านมาในระยะห่างไม่เกิน 2 เมตร ที่มีเพียงกระจกใสๆ กั้น

คณะฯ เองก็มีนโยบายการให้บริการเครือข่าย แต่นโยบายนี้ดูเหมือนจะไม่ได้รับความสนใจจากสมาชิกต่างๆ เท่าไหร่นัก นโยบายอาจจะมีบทบาทสำคัญเมื่อผู้ใช้คนใดคนหนึ่งละเมิดระเบียบและก่อให้เกิดความเสียหาย ถ้าไม่อยากให้นโยบายเป็นเพียงไม้กันหมา ผู้บริหารก็คงต้องบังคับใช้อย่างจริงจังต่อไป

หออัครศิลปิน

เมื่อวานได้มีโอกาสแวะไปที่หออัครศิลปินมา หลังจากที่ขับรถผ่านป้ายบอกทางไปหอฯ ตั้งหลายรอบจนได้มีโอกาสเหมาะๆ นี่แหละครับ

หออัครศิลปิน “สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นเลิศในศิลปทั้งมวล เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่พสกนิกรและศิลปินทั่วโลก เป็นสถานที่จัดแสดงผลงานด้านศิลปและวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของพระองค์ 9 ด้าน คือ ด้านหัตถกรรม ด้านกีฬา ด้านวรรณศิลป์ ด้านจิตรกรรม ด้านถ่ายภาพ ด้านภูมิสถาปัตยกรรม ด้านประติมากรรม ด้านดนตรี และด้านการพระราชนิพนธ์เพลง นอกจากนี้ ยังเป็นที่จัดแสดงประวัติและผลงานอันล้ำค่าของศิลปินแห่งชาติทุกท่านในรูปแบบนิทรรศการภาพและเทคโนโลยีที่ทันสมัยและถ่ายทอดผลงานและภูมิปัญญาของศิลปินแห่งชาติทั้ง 4 สาขา คือ สาขาวรรณศิลป์ ศิลปการแสดง ทัศนศิลป์ และสถาปัตยกรรม”

“หออัครศิลปิน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2539 ในโครงการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกาญจนาพิเษก ณ บริเวณ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี”

เว็บไซต์ของหออัครศิลปิน

วันที่ผมไปค่อนข้างเงียบเหงามาก อาจเป็นเพราะว่าเป็นวันหยุดยาวหลายวัน เสียดายที่ทางหอฯ ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป รปภ.ที่ดูแลอธิบายว่าเมื่อก่อนอนุญาตให้ถ่าย แต่ว่าเนื่องจากมีคนถ่ายแล้วเอารูปไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นใครจะถ่ายรูปต้องทำเรื่องมาขออนุญาตเป็นรายๆ ไป

ผมเข้าไปดูข้างในแล้วก็พบผลงานที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีทั้งภาพวาดจาฝีพระหัตซึ่งทางหอฯ ได้จัดแสดงรูปไว้โดยมีการควบคุมอุณหภูมิของรูปภาพไว้ด้วย หอฯ ได้ใช้เซ็นเซอร์เข้ามาช่วยในการแสดง โดยเวลาผมเดินไปใกล้ตัวเซ็นเซอร์จะสั่งให้เปิดไฟและมีคำอธิบายถึงผลงานแต่ละชิ้นของพระองค์ นอกจากนี้ก็ยังมีทีวีและจอระบบสัมผัสอยู่เป็นระยะๆ ด้วย

นอกจากนี้ก็ยังมีห้องแสดงผลงานของศิลปินแห่งชาติในสาขาต่างๆ ได้แก่ สาขาทัศรศิลป์ สาขาศิลปะการแสดง สาขาวรรณศิลป์ ทางหอฯ ได้มีการจัดแสดงผลงานต่างๆ เป็นอย่างดี บรรยากาศก็เหมือนกับการแสดงนิทรรศการศิลปดีๆ นี่เองครับ (แต่เนื่องจากไม่มีใครอยู่ในห้องเลย ผมเดินชมอยู่คนเดียว ก็เสียวๆ เหมือนกัน) ผมเข้าใจว่าหอฯ ได้มีการจัดประชุมสัมนาและกิจกรรมต่างๆ อยู่เป็นระยะๆ ใครว่างๆ ผ่านมาแถวนี้ก็ลองแวะเข้าไปดูหน่อยก็แล้วกันครับ (แผนที่)

เพิ่มเติมอีกนิดว่าที่บริเวณเดียวกันนั้นมี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกาญจนาภิเษก อยู่ด้วยครับ แต่ว่ายังไม่เปิดอย่างเป็นทางการ ถ้าขับรถเข้าไปใกล้ๆ จะเห็นตึกของพิพิธภัณฯ สูงเด่นขึ้นมาเลย แต่ที่น่าเสียดายก็คือ ตัวอาคารดูชำรุดทรุดโทรม เวลาเปิดใช้งานจริงๆ ก็คงต้องมีการซ่อมใหญ่เหมือนกันครับ

Floating an image with CSS/Open a new window in XHTML

เนื่องจากผมพยายามที่จะไม่ใช้ attribute ที่ deprecate แล้วของ HTML 4.01 ก็เลยต้องหาวิธีการจัดวางตำแหน่งรูปภาพโดยอาศัยเจ้า CSS มาช่วย ซึ่งผมพบ tutorial เด็ดๆ ที่นี่

Floatutorial: Step by Step CSS float tutorial
http://css.maxdesign.com.au/floatutorial/

CSS image text wrap tutorial
http://www.bigbaer.com/css_tutorials/css.image.text.wrap.tutorial.htm

และของ w3.org ที่นี่
http://www.w3.org/TR/CSS21/visuren.html#float-position

CSS ย่อมาจาก Cascading Style Sheet ถูกนำมาใช้กับ HTML 4.01 เพื่อที่จะช่วยในการแยกส่วนของ HTML tag และ ส่วนของวิธีการแสดงผลบนบราวเซอร์ออกจากกัน ทำให้การเขียนโค้ด HTML ดูสะอาด ไม่วุ่นวาย ซึ่งการนำ CSS มาใช้ก็ทำให้ tag และ attribute หลายอย่างถูกยกเลิกไปในเวอร์ชันที่ strict ของ HTML เช่น tag <center>
ลองดู HTML 4.01 reference ได้ที่นี่

น่าแปลกใจที่ HTML 4.01 ออกมานานแล้ว และก็ได้กลายเป็น XHTML 1.0 ในปัจจุบัน แต่ยังมีสำนักพิมพ์บางแห่งยังตีพิมพ์หนังสือสอน HTML โดยยังอ้างอิง HTML 3.2 อยู่เลย เปิดดูอ่านดูแล้วถึงกับงงครับ

Continue reading Floating an image with CSS/Open a new window in XHTML