อำนาจหน้าที่ของ IT Manager
ในการประชุมครั้งหนึ่งที่ สกอ. ผมได้รับคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารประจำสนามแข่งขัน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในเอกสารดังนี้
ผมได้ทำเกือบทุกข้อ อย่างข้อ 4) ไม่นึกว่าจะได้ทำก็ได้ทำ ส่วนข้อ 5) 6) และ 7) ไม่เคยได้ทำเลย เพราะลำพังแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็ไม่มีเวลาแล้ว และไม่แน่ใจว่าแจ้งไปแล้วจะเกิดประโยชน์อะไรหรือไม่ สิ่งที่ปฏิบัติเมื่ออยู่หน้างานและเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบก็คือแจ้งเจ้าหน้าที่ IT ส่วนกลางโดยตรง เพราะต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน
จากอำนาจหน้าที่จะเห็นว่ามีคำว่า “ประสานงาน” ปนอยู่หลายข้อด้วยกัน ซึ่งหน้าที่ส่วนใหญ่ก่อนการแข่งขันก็จะเป็นการประสานงานกับ IT ส่วนกลางกับ Swiss Timing/MSL เป็นหลัก แต่ในการประสานงานก็เป็นไปตามมีตามเกิด และบางครั้งก็ต้องอาศัยโชคเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ปัญหาใหญ่ในการทำงาน
ปัญหาใหญ่ในการทำงานครั้งนี้เป็นเรื่องการประสานงาน เพราะผมต้องทำหน้าที่ประสานงานกับส่วนต่างๆ แต่กลับได้รับข้อมูลต่างๆ มาน้อยมาก ว่าจะต้องทำอะไรอย่างไร ความคืบหน้าของงานต่างๆ ไปถึงไหนแล้ว ทำให้เมื่อถูกสอบถามจากส่วนต่างๆ ก็ให้ข้อมูลไม่ได้ ต้องสอบถามไปที่ IT ส่วนกลางทุกครั้ง และเมื่องานบางอย่างล่าช้าก็ต้องรับหน้าโดน project manager ของ MSL ต่อว่าถึงความล่าช้า ซึ่งผมจะได้เล่าต่อไป
นอกจากนี้ผมพบว่าส่วนของ IT ที่เข้าไปในสนามแข่งขันนั้นเข้าไปช้ากว่าส่วนอื่นๆ มาก ในขณะที่ทีมงานของผู้จัดการสนามนั้นได้มีการประชุมกันมาแล้วหลายครั้ง ผมถูกเรียกเข้าไปประชุมครั้งสุดท้ายอย่างฉุกละหุก ทำให้ไม่มีใครรู้จักว่าผมเป็นใครและทำงานในตำแหน่งอะไร และผมเองก็ไม่รู้จักทีมงานส่วนอื่นๆ ของทีมงานผู้จัดการสนามเลย แต่ก็ได้อาศัยช่วงเวลา 8 วันก่อนการแข่งขันทำความรู้จักส่วนงานต่างๆ ไปด้วย ซึ่งก็ถือว่าโชคดีที่ไม่มีปัญหาความขัดแย้งหรือไม่ลงรอยกับทีมผู้จัดการสนามเหมือนกับสนามแข่งขันบางแห่ง
พบอาสาฯ และติดตั้งอุปกรณ์พร้อมๆ เดินสายเครือข่ายในห้องควบคุม
ผมได้พบนักศึกษาซึ่งเป็นอาสาฯ ในส่วนที่เป็น IT Support 7 คนในวันที่ 31 ก.ค. และได้นัดอาสาฯ มาประชุมกันที่ห้องควบคุมของสนามในช่วงบ่าย ผมก็ได้แนะนำอาสาฯ เกี่ยวกับงานที่จะต้องทำ (ซึ่งผมก็ไม่รู้รายละเอียดอะไรมากนัก) และได้พาอาสาฯ เดินตรวจสอบเครือข่ายที่เชื่อมโยงไปยังห้องต่างๆ ตามแบบที่ผมได้รับจาก IT ส่วนกลาง (โชคดีที่ผมได้เข้ามาเดินสำรวจก่อนหน้านั้นแล้ว) ผมได้ให้อาสาฯ เดินสำรวจหาจุดปล่อยสัญญาณเครือข่ายเอง เพื่อจะได้ทำความคุ้นเคยกับโครงสร้างอาคารที่ซับซ้อนของ Main Stadium ไปในตัวด้วย
ชั้น 1 ด้านหน้าของ Main Stadium
ชั้น 1 ฝั่งลานพญานาค (ด้านหลัง)
Register ในที่นี้ก็คือห้อง call room นั่นเอง
บริเวณสี่มุมของสนามหญ้าจะมีการเดินสายไฟเบอร์ ไปที่ห้องควบคุม
ซึ่งในแต่ละวันของการแข่งขัน ทีมของผมจะต้องนำ Switch ไปติดตั้งที่แต่ละมุมของสนาม
ผมได้แปลนข้างต้นมาจาก IT ส่วนกลาง ซึ่งไม่มีการอธิบายแปลนอะไรมาก ขอบอกตรงๆ ว่าผมเพิ่งจะเข้าใจแปลนบางส่วนในวันที่เขียนบล็อกนี้เอง นอกจากนี้ผมได้ทราบภายหลังว่ามีการเปลี่ยนแปลงการเดินสายเครือข่ายในบางจุด และก็ไม่มีการแจ้งข้อมูลนี้กับผมไว้ ทำให้ผมกับอาสาฯ เดินส่องแล้วส่องอีกก็แล้วก็ไม่พบการเดินสายไว้
สิ่งที่สำคัญก็คือ ผมได้เข้าใจผิดอย่างมากที่คิดว่าการเดินสายต่างๆ นั้นได้ถูกดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีเพียงส่วนหลักๆ บางส่วนเท่านั้นที่ได้เดินสายไว้แล้ว เช่น สายไฟเบอร์ในสนาม ซึ่งผมได้ทราบมาจากเจ้าหน้าที่ส่วนกลางว่าการเดินสายไฟเบอร์ภายในต่างๆ นั้น เพิ่งจะแล้วเสร็จเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมนั่นเอง
ส่วนการเดินสายภายในห้องต่างๆ นั้นยังไม่ได้ดำเนินการ และมีหลายครั้งหลายหนที่ผมต้องลุ้นระทึกว่า เจ้าหน้าที่ส่วนกลางจะมาเดินสายแลนที่หลือให้ผมวันไหนและเมื่อไหร่ ทั้งๆ ที่จะแข่งขันอยู่ไม่กี่วันข้างหน้าแล้ว ผมเคยเจรจาขอให้เจ้าหน้าที่เดินสายทิ้งไว้ก่อน แต่เขาไม่ยอมทำให้โดยให้เหตุผลว่าจะต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์ไปตั้งไว้ก่อนแล้วจึงจะเดินสายให้ เพราะเขาเคยเดินสายไว้ให้บางสนามแล้ว แต่ปรากฎว่าต้องถูกรื้อแก้ไขบ่อยครั้ง
ส่อแววปัญหาตั้งแต่ติดตั้งอุปกรณ์
ตั้งแต่ในช่วงค่ำของวันที่ 1 สิงหาคม ขณะที่ผมกำลังจะเตรียมตัวกลับที่พัก ก็พบว่าอยู่ๆ เจ้าหน้าที่ส่วนกลางนำอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่างๆ มาส่งพร้อมกับติดตั้งและเดินสายเน็ตเวิร์คในห้องควบคุมไว้ด้วย ดังที่ผมเคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้แล้ว (อ่านที่นี่)
เจ้าหน้าที่ IT ส่วนกลางจาก สกอ. มีหลายคนมาก ผมเจอหลายๆ คนและรู้จักกันที่สนาม แต่ละคนก็ต้องรีบเร่งทำงานในส่วนของตัวเองให้เสร็จ บางคนก็อัธยาศัยดี สนุกสนานเฮฮา ในขณะที่บางคนก็ดูเคร่งเครียด และบางคนก็โบ้ยงานในส่วนของตัวเองมาให้ผมทำได้อย่างหน้าตาเฉย? (หรือเรียกว่าปัดความรับผิดชอบนั่นเอง)
บริษัทที่ สกอ. เช่าอุปกรณ์รวมค่าขนส่ง ในราคาที่เฉียดๆ กับราคาซื้อเครื่องมานั้นก็คือ บริษัท SVOA ซึ่งบริษัทก็ได้จ้างนักศึกษาให้มาช่วยงานในการขนส่ง ติดตั้งอุปกรณ์ พร้อมทั้งเดินสายเครือข่ายด้วย ซึ่งในวันทีมาติดตั้งคอมพิวเตอร์และเดินสายเครือข่ายในห้องควบคุมนั้น ผมก็อยู่สังเกตการโดยตลอด
ผมได้เห็นวิธีการเข้าหัวสายแลนโดยไม่มีอุปกรณ์ตรวจสอบใดๆ ว่าการเข้าหัวถูกต้องหรือไม่ ผมเห็นความลังเลในวิธีการเข้าหัวสายจากนักศักษาช่วยงาน ผมเห็นเจ้าหน้าที่บริษัทต้องมาเข้าหัวสายใหม่ และผมเห็นวิธีการลากสายด้วยความมักง่าย ทำให้เกิดคอขวดโดยไม่จำเป็น คือแทนทีจะลากสายเข้าไปที่สวิทช์หลักโดยตรง กลับลากไปเพียงหนึ่งเส้น และใช้สวิทช์ 8 พอร์ตตัวเล็กๆ มากระจายไปยังเซอร์เวอร์แต่ละตัวอีกที ทั้งๆ ที่สวิชท์กับเครื่องคอมอยู่ห่างกันไม่กี่เมตรเท่านั้น อีกทั้งยังมีความสับสนว่าจะติดตั้งคอมพิวเตอร์ไว้ที่จุดใดบ้าง จนต้องพากันไปสอบถามเจ้าหน้าที่ของสมาคมกรีฑาว่าต้องการอย่างไร นอกจากนี้ยังลืมเดินสายแลนในบางจุดด้วย ซึ่งผมได้ตรวจสอบพบภายหลังก่อนการแข่งขันไม่กี่วัน
ปัญหาแรกที่เกิดขึ้นกับเครือข่าย
ในที่สุดความประมาทในการทำงานข้างต้น ก็ส่งผลให้เครื่องคอมพิวเตอร์ใช้งานเครือข่ายไม่ได้ เพราะการเข้าหัวสายผิด ที่สำคัญสายแลนที่เชื่อมระหว่างสวิทช์ 8 พอร์ตและสวิทช์หลักก็เกิดปัญหาขึ้นจริงๆ จนในที่สุดก็ต้องรื้อและลากสายจากเซิร์ฟเวอร์ต่างๆ เข้าไปยังสวิชท์หลักโดยตรง ทำให้เสียเวลาในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ 2-3 วัน สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้เจ้าหน้าที่ส่วนกลางที่ต้องมานั่งแก้ปัญหา ต้องพาทีมงานเข้ามารื้อสายแลนและทำการติดตั้งลากสายใหม่ ซึ่งคราวนี้ได้นำอุปกรณ์ตรวจสอบสายมาใช้งานด้วย ความผิดพลาดนี้ทำให้ทีม MSL เสียเวลาในการติดตั้งโปรแกรมการแข่งขันไปด้วย
ผมพบว่าได้ตัวเองได้ทำบางอย่างที่ผิดพลาดไปในวันนี้ คือลืมขอรายละเอียดว่าต้องทำการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่ห้องไหนบ้าง ซึ่งการขอข้อมูลนี้ในภายหลังเป็นสิ่งที่ยุ่งยากมาก (ว่าแต่ทำไมผมจึงไม่ได้รับข้อมูลนี้ตั้งแต่แรก? ทั้งๆ ที่เป็นข้อมูลที่จำเป็นในการทำงาน) ในที่สุดผมก็ต้องตัดสินใจติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ตามความเข้าใจของตัวเอง และผมก็พบว่าในห้องเก็บอุปกรณ์เหลือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้ทำการติดตั้ง 3 เครื่อง เครื่องพิมพ์อีก 1 เครื่อง เครื่องส่งโทรสารอีก 3 เครื่อง ซึ่งในเมื่อไม่มีใครเดือดร้อนผมก็จึงไม่ต้องทำการติดตั้งอุปกรณ์ที่เหลือนี้