ส่งนี้ไม่ควรเกิดขึ้น!

Download
Source: france24news

สถานีโทรทัศน์ฟูจิ กล่าวว่า คลิปวิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นายนางาอิ ถูกสังหารอย่างจงใจ มิใช่ถูกลูกหลงแต่อย่างใด
       
       “ทหารคนนี้น่าจะผลักนายนางาอิ ล้มลง ก่อนที่จะยิงเสียชีวิต หากดูจากระดับของปลายกระบอกปืน” นายโคอิชิ อิโตะ (Koichi Ito) อดีตสมาชิกหน่วยโจมตีเคลื่อนที่เร็วของตำรวจญี่ปุ่นกล่าว

อ่านข่าว: คาหนังคาเขา..ทีวีญี่ปุ่นเผยคลิปจ่อยิงช่างภาพ

เขาทำงานจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ขอแสดงความเสียใจด้วยครับ  😥

WordPress 2.3 มาแล้ว

ผม upgrade เป็น WordPress 2.3 (Dexter) แล้ว  เวอร์ชันใหม่นี้มีอะไรบ้าง  ก็คงมีคนพูดถึงมากมายแล้ว   แต่ขอพูดถึงการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจไว้หน่อยครับ

  • Native tagging support  มีระบบ tag  เพิ่มเติมจาก category ของเดิม
  • Plug-in update notification เมื่อผู้พัฒนา plug-in ออกเวอร์ชันใหม่ๆ ก็จะมีข้อความแจ้งบอก  (แต่ต้องเข้าไปดูในส่วน plug-in เองนะ)
  • Canonical URLs ทำให้รองรับรูปแบบของ URL ที่ยืดหยุ่นมากขึ้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
  • advanced WYSIWYG  ที่เลิกซ่อนฟังก์ชันที่แอบไว้ของ TinyMCE (ต้องกด CTRL+Shift+V)
  • รองรับ Atom 1.0 อย่างสมบูรณ์แบบ
  • เร็วขึ้นจากเดิม 800% จากผลของ jQuery  (ว้าว!)

Upgrade ยังไง? 

ขั้นตอนการ upgrade ก็ง่ายดายเหมือนเดิม  แต่ควรจะทำการ Backup Database และไฟล์เดิมเสียก่อน แล้วก็ upload ไฟล์ต่างๆ  ของเวอร์ชัน 2.3 เข้าไป   และเรียกใช้งาน upgrade.php ก็เป็นอันเสร็จ   อย่างไรก็ตามควรจะตรวจสอบด้วยว่า plug-in ที่ใช้อยู่นั้นทำงานได้กับเวอร์ชัน 2.3 หรือไม่

สำหรับผมนั้นโชคดีที่  plug-in ไม่มีปัญหาอะไร  แต่ก็พบว่า plug-in ที่ใช้อยู่จำนวนหนึ่งได้ update เวอร์ชันไปแล้ว  (คลิกเข้าไปทีดูที่ส่วนของ plug-in จะเห็นข้อความเตือนเลย)

ทำอะไรบ้างหลังจาก upgrade

หากเคยใช้ tag plug-in ต่างๆ มาก่อนหน้านี้ เช่น Ultimate Tag Warrior, Jerome’s Keyworkds, Simple Tags และ Bunny’s Tecghorati Tag  ก็ควรจะทำการ import เอาข้อมูลเดิมมาใส่ในฐานข้อมูล tag ของ WordPress   ซึ่งก็ทำไม่ยากเพราะทีมงานของ WordPress ได้เตรียมการไว้ให้แล้ว

ขั้นตอนง่ายๆ แค่คลิกที่ Manage -> Import แล้วก็เลือกว่าจะ Import tag จาก plug-in ไหน  ทุกอันจะมีคำเตือนว่า “Don’t be stupid – backup your database before proceeding!” ยังไงก็ควรจะทำตามนะครับ

แก้ไขธีมให้รองรับ tag

ถ้าธีมที่ใช้อยู่ยังไม่รองรับ tag เราก็สามารถเพิ่มเข้าไปได้เลย  โดยการเพิ่มฟังก์ชัน the_tags() เข้าไปเพื่อให้แสดง tag ที่เราใส่ออกมา  รูปแบบเป็นดังนี้ครับ

<?php the_tags(‘before’, ’separator’, ‘after’); ?>

before เป็น คำ หรือ ข้อความ หรือ คำสั่งของ HTML ที่อยากให้ปรากฎก่อนรายชื่อ tag ต่างๆ
separator เป็น ตัวอักษรที่ใช้แยก tag ต่างๆ ออกจากกัน
after เป็น คำ หรือ ข้อความ หรือ คำสั่งของ HTML ที่อยากให้ปรากฎหลังรายชื่อ tag ต่างๆ

เช่น ถ้าอยากให้แสดงผลแบบนี้  แท็กของฉัน: กินข้าว, ดูหนัง, ฟังเพลง  ก็ใช้คำสั่งแบบนี้

<?php the_tags(‘แท็กของฉัน: ’, ’, ’, ‘’); ?>

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ How to add WordPress 2.3 tags to your current theme ครับ

ส่วน tag clouds เหมือนทางฝั่งขวามือใน sidebar ก็ใช้ฟังก์ชัน wp_tag_cloud()  เช่น

<?php wp_tag_cloud(‘smallest=8&largest=18&number=50’); ?>

smallest เป็นขนาดของตัวอักษรตัวเล็กที่สุด
largest เป็นขนาดของตัวอักษรตัวใหญ่ที่สุด
number เป็นจำนวน tag ที่จะแสดงออกมา

มี option อื่นๆ อีกอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ: wp_tag_cloud

แก้วันที่ให้แสดงเป็นภาษาไทย

ชื่อเดือนและวันนั้น ผมก็ทำการ localize เฉพาะในส่วนของการแสดงผลชื่อเดือนและวันให้เป็นภาษาไทย  จากนั้นก็สร้างไดเรกทอรีชื่อ languages ภายใต้ wp-includes  แล้วก็เอาไฟล์ th_TH.mo ใส่ไว้ข้างใน  ขั้นตอนต่อไปก็แก้ไขไฟล์ wp-config.php ให้มาอ่านไฟล์นี้

define (‘WPLANG’, ‘th_TH’);  // อ่านเพิ่มเติมที่นี่

แล้วผมก็เขียน plug-in ง่ายๆ ขึ้นมาเพื่อให้แปลงปี ค.ศ. เป็นปี พ.ศ.  เสีย  plug-in ใช้งานได้ดีในส่วนของข้อความที่โพสในแต่ละวัน   แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ต้องเข้าไปแก้ไขใน script โดยตรง  ซึ่งก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร

24th Universiade 2007 – การติดตั้งอุปกรณ์และเดินสายเครือข่ายเน็ตเวิร์ค (3)

เดินสายเครือข่ายเพิ่มเติมในห้องผู้จัดการสนาม

เดิมทีนั้นห้องผู้จัดการสนามไม่ได้ขอให้ติดตั้งเน็ตเวิร์คไว้  ทำให้ไม่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้  ซึ่งการขอให้มีการเดินสายเพิ่มเติมภายหลังนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากมาก  เพราะลำพังแค่ตามเก็บงานที่คั่งค้างอยู่ของแต่ละสนามนั้น  ก็ทำให้ทีมงานของ IT ส่วนกลางแทบจะไม่เป็นอันกินอันนอนแล้ว 

เมื่อผมได้โอกาสเจอกับทีมงานที่มาติดตั้งโทรศัพท์  ก็เลยขอให้เขาเดินสายแลนจากห้อง Doping ไปยังห้องผู้จัดการสนามให้ด้วย  ซึ่งเขาก็ยอมทำให้  แต่ผมก็ได้เห็นความลำบากยุ่งยากพอสมควร  เพราะต้องเปิดฝ้าปีนบันไดเดินสายทะลุผ่านห้องต่างๆ หลายห้องกว่าจะมาถึงห้องผู้จัดการสนาม

ประเด็นของการเดินสายเพิ่มเติมหรือปรับเปลี่ยนผังของเน็ตเวิร์คนั้น  สำหรับที่ Main Stadium นั้นถือว่ามีปัญหาน้อยมาก ในขณะที่บางสนามแข่งขันมีการปรับเปลี่ยนรื้อสายหรือเดินสายเพิ่มเติม ในลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่ได้ออกแบบไว้  ทำให้ทีมงาน IT ส่วนกลางต้องเสียเวลาในการทำงานมากขึ้นไปอีก

สกอร์บอร์ดทะเลาะกัน

ในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกครั้งนี้ ได้ว่าจ้าง บริษัท Swiss Timing มาเก็บข้อมูลสถิติและผลการแข่งขัน  ซึ่งในสัญญานั้นบริษัทได้นำเอาสกอร์บอร์ดของตัวเองมาใช้ในการรายงานผลการแข่งขันด้วย 

st_scb.jpg
เจ้าหน้าที่ของ Swiss Timing กำลังตรวจสอบการทำงานของสกอร์บอร์ดที่เพิ่งจะประกอบเสร็จ

การติดตั้งสกอร์บอร์ดนั้นในช่วงแรกทำท่าจะมีปัญหา เพราะชิ้นส่วนต่างๆ ของสกอร์บอร์ดมีน้ำหนักมากและอาจต้องใช้รถฟอร์คลิฟท์มาช่วยยกขึ้นไปประกอบ  ซึ่งการนำรถฟอร์คลิฟท์เข้ามาในสนามนั้นก็อาจจะทำให้สนามแข่งมีปัญหาได้จากน้ำหนักของตัวรถเอง   แต่ในที่สุดก็สามารถใช้แรงคนช่วยกันประกอบสกอร์บอร์ดจนได้

ใน Main Stadium นั้นก็มีสกอร์บอร์ดประจำสนามซึ่งมีขนาดใหญ่มากๆ สามารถมองเห็นได้จากระยะไกลอยู่แล้ว  จึงได้มีการเจรจากันระหว่างสมาคมกรีฑาฯ และบริษัท Swiss Timing ว่าจะให้มีนำข้อมูลจากสกอร์บอร์ดเล็กไปแสดงในสกอร์บอร์ดใหญ่ของสนามด้วย  แต่ทาง Swiss Timing ก็ไม่ยินยอม 

main_scb.jpg
สกอร์บอร์ดอันไหนใหญ่กว่ากัน และใหญ่กว่าขนาดไหน
ก็ลองเปรียบเทียบด้วยสายตาเอาเองนะครับ

เมื่อตกลงกันไม่ได้  ทางสมาคมฯ ก็เลยต้องเปลี่ยนแผน โดยจะนำสกอร์บอร์ดใหญ่ของสนามไว้แสดงผลอย่างอื่นทีเกี่ยวกับสื่อต่างๆ แทน ซึ่งในตอนแรกนั้นผมเองก็นึกไม่ออกว่านำไปใช้อย่างไร  ดูเหมือนว่าปัญหาตรงนี้น่าจะคลี่คลายได้ด้วยดี  

แต่ปรากฎว่าบริษัทที่ถูกว่าจ้างให้มาติดตั้งระบบควบคุมสกอร์บอร์ดของสนามนั้น  จำเป็นที่จะต้องติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมในห้อง photo finish ด้วย  ซึ่งทาง Swiss Timing ก็ไม่ยินยอมให้ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์อื่นๆ นอกจากตัวคอนโทรลสกอร์บอร์ดที่ฝังอยู่ข้างกำแพง  เพราะมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ทั้งหมดในห้องนั้น

ผมก็ต้องเข้าไปช่วยอธิบายให้ทาง Swiss Timing เข้าใจ  ซึ่งในที่สุดแล้วก็ต้องลากสายจากตัวคอนโทรลเลอร์อ้อมผ่านบนเพดานออกมาข้างนอกห้อง photo finish (อย่างทุลักทุเล) เพื่อมาต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ควบคุมสกอร์บอร์ดที่ต้องนำมาตั้งอยู่นอกห้อง  เวลาเข้าไปทำการลากสายก็ต้องรอให้ทาง Swiss Timing ทำงานเสร็จก่อนคือหลัง 17.00 น.ไปแล้ว

MCOT นำรถถ่ายทอดมาติดตั้งอุปกรณ์

ในวันที่ 7 ส.ค. ช่อง 9 อสมท. ได้นำรถถ่ายทอดสด (OB Van) พร้อมอุปกรณ์ต่างๆ มาติดตั้ง  ในฐานะที่ผมเป็นผู้จัดการฝ่าย IT ก็มีหน้าที่จะต้องประสานงานและอำนวยความสะดวกในการทำงานของทาง อสมท. ด้วย  ผมได้เข้าไปแนะนำตัวและทำความรู้จักกับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบของทาง อสมท. ซึ่งเจ้าหน้าที่แต่ละท่านของ อสมท. ค่อนข้างเป็นกันเองในการทำงาน  และเป็นทีมงานที่ประสบการณ์สูงทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความราบรื่น

obvan.jpg
รถถ่ายทอดสด 2 คันของ อสมท. และอีกคันเป็นของ UBC

รถถ่ายทอดสดมีทั้งหมด 3 คัน  ในวันที่ 7 นั้นจะมาเฉพาะของ อสมท. ส่วนคันที่ 3 ซึ่งเป็นของ UBC จะมาในเช้าตรู่ของวันที่ 9 ส.ค. ซึ่งเป็นวันที่มีการแข่งขันวันแรก  สาเหตุที่มาช้าเพราะต้องทำหน้าที่ในการถ่ายทอดสดพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาในวันที่ 8 ส.ค.ให้เสร็จสิ้นก่อน  ทำให้ฉุกละหุกในการติดตั้งอุปกรณ์พอสมควร

รถถ่ายทอดสดนั้นจำเป็นจะตั้งรับสัญญาณนาฬิกาการแข่งขันและสัญญาณภาพจากกล้องที่จุดเข้าเส้นชัยของ Swiss Timing ด้วย  ผมจึงได้ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่าง อสมท. และ Swiss Timing อีกครั้ง  และนอกจากนี้แล้วทางสมาคมกรีฑาฯ ได้ประสานงานกับ อสมท. ให้นำภาพการแข่งขันขึ้นแสดงในสกอร์บอร์ดใหญ่ของสนาม  ทำให้สกอร์บอร์ดกลายเป็นเหมือนจอทีวีขนาดใหญ่ในสนาม 

ลักษณะการถ่ายทอดสดของ อสมท. ได้ทำให้เกิดบรรยากาศการแข่งขันที่น่าสนใจมากขึ้น  เพราะตากล้องของ อสมท. ได้ลงมาทำการถ่ายภาพนักกีฬาในสนามอย่างใกล้ชิด  เช่น ในช่วงของการแนะนำนักกีฬาประเภทลู่  ในขณะที่โฆษกประจำสนามอ่านรายชื่อนักกีฬาแต่ละคนนั้น ตากล้องได้เดินถ่ายตามไปด้วย  ผู้ชมในสนามจึงได้มีโอการเห็นหน้านักกีฬาและเห็นนักกีฬาโบกมือในสกอร์บอร์ดใหญ่อย่างใกล้ชิด  รวมทั้งได้ถ่ายบรรยากาศในขณะหลังเข้าเส้นชัยด้วย  นอกจากนี้ก็มีการซูมไปที่ผู้ชมเป็นระยะ ซึ่งเมื่อแต่ละคนเห็นตัวเองก็โบกไม้โบกมือให้กล้องกันใหญ่


นี่เป็นคลิปที่ผมถ่ายเองจากในสนามครับ


คลิปนี้ผมบังเอิญไปเจอใน youtube ครับ

จากภาพข้างบนจะเห็นว่ามีการแทรกภาพกราฟิกต่างๆ เช่น สถิติโลก การจับเวลา และผลการแข่งขันในภาพด้วย  ซึ่งก็คงจะคุ้นเคยกับภาพลักษณะนี้ในการแข่งขันกีฬาสำคัญๆ ต่างๆ มากันบ้างแล้ว   ในการทำลักษณะดังกล่าวจะต้องมีการนำเครื่องสร้างภาพกราฟิกชื่อ Agile พร้อมคอมพิวเตอร์สำหรับควบคุม เข้าไปติดตั้งในรถถ่ายทอดสดด้วย  ทำให้ต้องมีการลากสายเน็ตเวิร์คเข้าไปในรถถ่ายทอดสด  พร้อมทั้งเดินสายภายในรถด้วย  (ลองดูภาพรถถ่ายทอดสดด้านบน  จะเห็นว่ามีสายเน็ตเวิร์คสีขาวๆ โยงเข้าไปที่รถ)

inside_obvan.jpg
ภาพภายในรถถ่ายทอดสดของ อสมท.

จากผังเน็ตเวิร์คที่ได้ออกแบบไว้นั้นจะมีการเดินสายจากห้องควบคุมซึ่งอยู่ชั้น 2  ไปบริเวณชั้น 1 ที่รถถ่ายทอดสดจอดอยู่เพียง 1 เส้น และใช้สวิทช์เป็นตัวกระจายสัญญาณออกไปอีกที  ซึ่งก่อนที่รถถ่ายทอดจะมาถึงนั้นได้มีการเดินสายรอไว้แล้ว 1 เส้น   หลังจากเมื่อรถถ่ายทอดสดมาถึงแล้วจึงค่อยมาเดินสายเพิ่มเติมภายหลัง  ซึ่งก็เป็นหน้าที่ผมในการประสานงานแจ้ง IT ส่วนกลางให้มาเดินสายเพิ่มเติม

หลังจากการพิจารณาแล้วเพื่อป้องกันการผิดพลาด  เจ้าหน้าที่จาก IT ส่วนกลางจึงได้ปรับเปลี่ยน  ทำการลากสายใหม่จากสวิทช์หลัก 3 เส้นเข้าไปที่รถถ่ายทอดสดแต่ละคันโดยตรงเลย  เพราะหากสายเส้นใดเส้นหนึ่งมีปัญหา ก็จะส่งผลกับรถถ่ายทอดสดแค่คันเดียวเท่านั้น  ซึ่งภายหลังก็พบว่ามีสายเน็ตเวิร์คเส้นหนึ่งมีปัญหาจริงๆ (เข้าหัวสายผิด) ทำให้ต้องทำการแก้ไขก่อนที่การแข่งขันจะเริ่มขึ้น

ส่วนในการติตตั้งอุปกรณ์สร้างภาพกราฟิกก็ดูจะวุ่นวายพอสมควร  เพราะเจ้าหน้าที่ของทาง MSL จะต้องเป็นผู้มาดำเนินติดตั้งอุปกรณ์ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังต้องลากสายโทรศัพท์เพิ่มเติมเข้าไปในรถถ่ายทอดสดรถละ 2 เบอร์ด้วย  โดยเบอร์หนึ่งจะเป็นโทรศัพท์ธรรมดา ส่วนอีกเบอร์จะเป็นเครื่องโทรสาร ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าจริงๆ แล้วได้ใช้งานหรือไม่

24th Universiade 2007 – การติดตั้งอุปกรณ์และเดินสายเครือข่ายเน็ตเวิร์ค (2)

 โครงสร้างเครือข่ายที่ Main Stadium มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

network-wiring-diagram-bang.gif

จากภาพข้างบนจะเห็นว่ามี Cisco 3560G เป็นสวิทช์หลักที่เชื่อมต่อยังเครือข่ายกลางที่อาคารสังคมศาสตร์ และจากสวิทช์หลักก็จะกระจายไปยังส่วนต่างๆ ภายใน Main Stadium ผ่านทางสวิทช์ Cisco 2950 อีก 8 ตัว ซึ่งถูกนำมากองไว้ในห้องควบคุม  (ภายหลังได้นำมาเพิ่มอีก 1 ตัว เพราะพอร์ตของ Cisco 3560G ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน)

ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้วผมใช้เพียงแค่ 6 ตัวเท่านั้น อีก 3 ตัวที่จะต้องถูกนำไปติดตั้งที่ห้องตรวจสารต้องห้าม (Doping Control) ห้องเทคนิคกรีฑา (TIC) และรถถ่ายทอดสดนั้น ผมไม่ได้นำไปทำการติดตั้ง แต่ใช้วิธีการลากสายสวิทช์หลักที่ห้องควบคุมไปโดยตรง  สาเหตุที่ไม่ได้ทำตามแบบนั้น  เพราะไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน  แม้ผมได้พยายามสอบถาม IT ส่วนกลางไปแล้ว  ก็ไม่มีใครให้ข้อมูลการติดตั้งนี้มาเลย

ที่จริงแล้วการที่ไม่ได้นำสวิทช์ 3 ตัวไปติดตั้งนั้น น่าจะเป็นข้อดีมากกว่า  เพราะเป็นตำแหน่งที่อยู่ห่างไกลจากการดูแล  จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการสูญหายของอุปกรณ์  ซึ่งถ้าเกิดการสูญหายผมก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย  ข้อดีอีกประการหนึ่งก็คือสวิทช์ 3 ตัวที่เหลือนั้นถูกเก็บไว้เป็นอุปกรณ์สำรองของสวิทช์ 4 ตัวที่ถูกนำไปตั้งไว้มุมสนามทั้ง 4 มุม ซึ่งต้องทนแดดทนฝนตั้งแต่เช้าถึงเย็น 

ความปลอดภัยของเครือข่ายเป็นสิ่งสำคัญ

13th_asiad.pngน้อยคนนักที่จะทราบว่าในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 เมื่อปี พ.ศ. 2541 นั้น เครือข่ายคอมพิวเตอร์ของการแข่งขันได้ถูกเจาะ โดยมีการเข้าไปแก้ไขข้อมูล เช่น เปลี่ยนสลับธงของประเทศต่างๆ และใช้เป็นทางผ่านไปเจาะเครือข่ายของที่อื่น 

ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาข้างต้นไม่ให้เกิดขึ้นอีก การแข่งขันกีฬาม.โลกครั้งนี้จึงต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยของเครือข่ายมากเป็นพิเศษ  กอปรกับพรบ.กระทำผิดคอมฯ ได้มีผลบังคับใช้ก่อนการแข่งขันเริ่มต้นไม่ถึงหนึ่งเดือน  ทำให้ทีมงาน IT ส่วนกลางมีความกังวลโดยเฉพาะการให้บริการเครือข่ายไร้สายในสนามต่างๆ

เนื่องจากระบบเครือข่ายนั้นประกอบด้วยหลายๆ ส่วนด้วยกันคือ 1) On Venue Results System หรือ OVR System เป็นระบบการรายงานผลจากสนามแข่งขัน   ส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด เพราะทำหน้าที่บันทึกผลการแข่งขัน และส่งผลการแข่งขันไปยังเครือข่ายหลักของการแข่งขัน  เพื่อนำผลการแข่งขันที่ได้ขึ้นแสดงบนเว็บเพจแบบ real time  2) Info Terminal, Internet Access 3) Accredit System and Info Server 4) IPTV/CCTV System 5) Management System 6) Wi-fi System และ 7) Office Internet Access

ovr_system.jpg

ระบบต่างๆ ข้างต้นจะถูกแยกจากกันเพื่อความปลอดภัยด้วย Vlan บนสวิทช์ตัวเดียวกัน โดยมีการระบุเป็นช่วงของพอร์ตของสวิทช์  เช่น พอร์ท 1-8 เป็นส่วนของ OVR System  และ 9-12 เป็นส่วนของ Info Terminal เป็นต้น  ซึ่งสวิทช์แต่ละตัวนั้นจะถูกตั้งค่าไว้ในลักษณะเดียวกันหมด  เมื่อตัวใดตัวหนึ่งมีปัญหาจึงสามารถนำอีกตัวหนึ่งเข้ามาทดแทนได้ทันที

เครือข่ายปลอดภัยแล้วจริงหรือ?

หากพิจารณาถึงความปลอดภัยทางด้านกายภาพของสวิทช์หลักนั้น  ก็อยู่ในขั้นที่เรียกได้ว่าไม่ปลอดภัยเลย เพราะสวิทช์หลักตั้งอยู่ในห้องควบคุมซึ่งมีคนจำนวนมากประมาณ 30 คน จากทั้งจาก Swiss Timing, MSL, ผู้ประกาศของสนาม และสมาคมกรีฑา  ซึ่งมีการเข้าและออกจากคนจำนวนมากในห้องนั้น 

หากใครสักคนเดินไปชนสายแลนจนหลุด หรือทำอะไรบางอย่างกับสวิทช์หลักก็สามารถทำได้  เพราะสวิทช์ไม่ได้ถูกนำใส่ตู้ แต่ถูกวางไว้ใต้โต๊ะที่พื้นซึ่งรองด้วยแท่นโฟมอีกทีหนึ่ง  นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากน้ำ ผลไม้ และอาหาร  เช่น วันหนึ่งอาสาฯ คนหนึ่งไปพบว่ามีเปลือกแตงโมวางไว้บนโต๊ะทั้งๆ ที่ได้ติดป้ายห้ามไว้แล้ว

สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ทีมงานของผมจำเป็นต้องย้ายออกจากห้องควบคุมไปอยู่ห้องพักใกล้ๆ  เนื่องจากปัญหาความไม่ลงรอยกับเจ้าหน้าที่ของสมาคมกรีฑาและความแออัดคับแคบของห้องควบคุม  ทำให้ไม่สามารถดูแลสวิทช์หลักได้ตลอดการแข่งขัน  ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับสวิทช์หลักในระหว่างการแข่งขันเท่านั้น

มีตัวอย่างของความไม่ปลอดภัยทางกายภาพแบบขำๆ ครับ คือมีผู้เล่าให้ฟังในวันสรุปงานว่า ที่บริเวณหมู่บ้านนักกีฬานั้น มีนักกีฬาบางประเทศแสบมาก เพราะได้แอบลากสายแลนจากห้องพักของตัวเองซึ่งอยู่ชั้น 6 ไปยังสวิทช์หลักของอาคารที่อยู่ชั้น 1  เพื่อจะได้แอบใช้อินเทอร์เน็ตในห้องพักของตัวเอง  ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าไปหาสายแลนมาจากไหน?  อย่างไรก็ตามน่าเห็นใจนักกีฬาเช่นกัน เพราะจำนวนนักกีฬาที่มาก  แต่กลับมีเครื่องคอมพิวเตอร์ให้บริการน้อย  ทำให้ต้องจำกัดการใช้งานแค่คนละ 30 นาทีเท่านั้น

อุปกรณ์เครือข่ายพร้อม แต่ระบบไฟฟ้าไม่พร้อม

หลังจากที่ได้ทำการแก้ปัญหาของเครือข่ายไปเรียบร้อยแล้ว  ทางทีม MSL ก็เร่งทำการติดตั้งและทดสอบระบบ  ซึ่งวันหนึ่งในขณะที่กำลังทำงานอยู่นั้นไฟฟ้าของ Main Stadium ก็เกิดดับในเวลาประมาณ 11.00 น. ซึ่งหลังจากผมและทีม MSL รอจนกระทั่งถึงเวลาประมาณ 17.00 น. ไฟฟ้าก็ยังไม่มา  ทำให้ทีม MSL ตัดสินใจกลับที่พัก และจะกลับมาทำงานต่อในวันรุ่งขึ้น  ส่วนสาเหตุนั้นทราบว่ามีการเปลี่ยนหม้อแปลงบางจุด และกว่าไฟฟ้าจะมาก็ประมาณ 18.00 น. ของวันนั้น

แอร์ในห้องควบคุมมีปัญหา

วันหนึ่งในขณะที่ทีม MSL กำลังทำงานอยู่เพลินๆ ก็พบว่าท่อน้ำของแอร์เกิดตันขึ้นมา  ทำให้น้ำรั่วและหยดลงบนเครื่องกระจายเสียงของสนาม  ซึ่งทางทีม MSL ได้พยายามนำขวดน้ำมารองน้ำที่หยดลงมา  รวมทั้งถังขยะที่ไม่ทราบว่าหามาจากไหนมาใช้รองน้ำด้วย  ในขณะที่เกิดเหตุชุลมุนอยู่นั้นผมอยู่ที่ห้องผู้จัดการสนาม  และเจ้าหน้าที่หญิงคนหนึ่งของ MSL ก็วิ่งมาตามผม  เธอพยายามอธิบายให้ผมเข้าใจ แต่ก็มาเข้าใจก็ตอนเห็นภาพความเลอะเทอะวุ่นวายที่อยู่ตรงหน้า

audio_system.jpg

จากภาพข้างบน  เครื่องใหญ่ๆ นั้นคือเครื่องกระจายเสียงของ Main Stadium จะเห็นว่าตั้งอยู่ในตำแหน่งใต้แอร์พอดี  น้ำที่รั่วจากท่อแอร์ได้หยดลงมาที่บริเวณด้านขวา  แต่ก็ไม่ได้ไหลเข้าไปในเครื่องและเครื่องก็ไม่ได้เปิดอยู่  หากสังเกตที่ตัวแอร์จะเห็นว่ามีการต่อท่อให้ลมจากแอร์ผ่านเข้าไปยังห้องผู้ประกาศที่อยู่ด้านหลังตำแหน่งที่ผมยืนถ่ายรูป 

สาเหตุที่ต้องต่อท่อในลักษณะนี้นั้น  ผมเข้าใจว่าเดิมห้องควบคุมนั้นเป็นห้องกว้างๆ เพียงห้องเดียว  แต่ได้มีการกั้นห้องด้วยผนังยิบซั่ม(แบบลวกๆ) เพิ่มขึ้นมาอีก 2 ห้องคือ ห้องผู้ประกาศ และห้องถ่ายภาพขณะเข้าเส้นชัย (Photo Finish Room)

โทรศัพท์จาก True มาติดตั้ง

หลังจากแก้ปัญหาเรื่องแอร์น้ำรั่วแล้ว และผมกำลังจะกลับที่พัก ก็พบว่า ทีมติดตั้งโทรศัพท์ของ IT ส่วนกลางก็มาติดตั้งโทรศัพท์แบบมีสายของ True โดยที่ไม่มีการแจ้งผมล่วงหน้า  ทำให้ผมต้องอยู่ดูแลการติดตั้งโทรศัพท์ให้เรียบร้อย  ซึ่งตอนนั้นเองผมก็รับการมอบหมายงานอย่างไม่คาดฝัน (โบ้ยนั่นแหละครับ) ให้ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของอาคารและผู้รับเหมาเรื่องการติดตั้งจุดปล่อยสัญญาณโทรศัพท์เอง

จากการตรวจสอบผมพบว่ามีความผิดพลาดบางประการ คือ ขาดสัญญาณโทรศัพท์ที่ห้องเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค (Technical Deligate)  และเดินสายปล่อยสัญญาณผิดที่สำหรับห้องพักแรมของผู้ตัดสิน (Judge Living Room) เนื่องจากในวันที่ติดตั้งยังไม่สามารถเข้าในพื้นที่ได้  ผมได้ติดต่อกับผู้รับเหมาซึ่งกำลังทำงานอยู่ที่สนามกีฬาอื่นภายในธรรมศาตร์  แต่ผู้รับเหมาก็ได้รีบเข้ามาดำเนินการแก้ไขและติดตั้งสายโทรศัพท์ให้ในทันที

ในห้องควบคุมนั้นต้องการโทรศัพท์ 3 เลขหมาย ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าจะเอาไว้ทำอะไรมากมายขนาดนั้น  แต่ปรากฎว่ามีสัญญาณโทรศัพท์เหลือเพียง 1 เลขหมายเท่านั้นและถูกจัดไว้ให้ทีมของ MSL ใช้งาน   ซึ่งที่จริงนั้นทีม MSL ได้รับแจกมือถือกันคนละเครื่อง และยังมี walky talky ใช้ในระหว่างแข่งขันด้วย  ซึ่งทาง MSL ได้นำ walky talky มาให้ผมใช้อีก 2 เครื่อง  เพราะคงจะเห็นว่าผมติดต่อกับทีมงานอาสาฯ ได้อย่างยากลำบาก

24th Universiade 2007 – การติดตั้งอุปกรณ์และเดินสายเครือข่ายเน็ตเวิร์ค (1)

อำนาจหน้าที่ของ IT Manager 

ในการประชุมครั้งหนึ่งที่ สกอ. ผมได้รับคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารประจำสนามแข่งขัน  ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในเอกสารดังนี้

itm-jobdesc.gif

ผมได้ทำเกือบทุกข้อ  อย่างข้อ 4) ไม่นึกว่าจะได้ทำก็ได้ทำ  ส่วนข้อ 5)  6) และ 7)  ไม่เคยได้ทำเลย  เพราะลำพังแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็ไม่มีเวลาแล้ว  และไม่แน่ใจว่าแจ้งไปแล้วจะเกิดประโยชน์อะไรหรือไม่  สิ่งที่ปฏิบัติเมื่ออยู่หน้างานและเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบก็คือแจ้งเจ้าหน้าที่ IT ส่วนกลางโดยตรง  เพราะต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

จากอำนาจหน้าที่จะเห็นว่ามีคำว่า “ประสานงาน” ปนอยู่หลายข้อด้วยกัน  ซึ่งหน้าที่ส่วนใหญ่ก่อนการแข่งขันก็จะเป็นการประสานงานกับ IT ส่วนกลางกับ Swiss Timing/MSL เป็นหลัก  แต่ในการประสานงานก็เป็นไปตามมีตามเกิด  และบางครั้งก็ต้องอาศัยโชคเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ปัญหาใหญ่ในการทำงาน 

ปัญหาใหญ่ในการทำงานครั้งนี้เป็นเรื่องการประสานงาน  เพราะผมต้องทำหน้าที่ประสานงานกับส่วนต่างๆ  แต่กลับได้รับข้อมูลต่างๆ มาน้อยมาก  ว่าจะต้องทำอะไรอย่างไร  ความคืบหน้าของงานต่างๆ ไปถึงไหนแล้ว  ทำให้เมื่อถูกสอบถามจากส่วนต่างๆ ก็ให้ข้อมูลไม่ได้  ต้องสอบถามไปที่ IT ส่วนกลางทุกครั้ง   และเมื่องานบางอย่างล่าช้าก็ต้องรับหน้าโดน project manager ของ MSL ต่อว่าถึงความล่าช้า  ซึ่งผมจะได้เล่าต่อไป

นอกจากนี้ผมพบว่าส่วนของ IT ที่เข้าไปในสนามแข่งขันนั้นเข้าไปช้ากว่าส่วนอื่นๆ มาก  ในขณะที่ทีมงานของผู้จัดการสนามนั้นได้มีการประชุมกันมาแล้วหลายครั้ง  ผมถูกเรียกเข้าไปประชุมครั้งสุดท้ายอย่างฉุกละหุก  ทำให้ไม่มีใครรู้จักว่าผมเป็นใครและทำงานในตำแหน่งอะไร  และผมเองก็ไม่รู้จักทีมงานส่วนอื่นๆ ของทีมงานผู้จัดการสนามเลย  แต่ก็ได้อาศัยช่วงเวลา 8 วันก่อนการแข่งขันทำความรู้จักส่วนงานต่างๆ ไปด้วย  ซึ่งก็ถือว่าโชคดีที่ไม่มีปัญหาความขัดแย้งหรือไม่ลงรอยกับทีมผู้จัดการสนามเหมือนกับสนามแข่งขันบางแห่ง

พบอาสาฯ  และติดตั้งอุปกรณ์พร้อมๆ เดินสายเครือข่ายในห้องควบคุม

ผมได้พบนักศึกษาซึ่งเป็นอาสาฯ ในส่วนที่เป็น IT Support 7 คนในวันที่ 31 ก.ค.  และได้นัดอาสาฯ มาประชุมกันที่ห้องควบคุมของสนามในช่วงบ่าย  ผมก็ได้แนะนำอาสาฯ เกี่ยวกับงานที่จะต้องทำ (ซึ่งผมก็ไม่รู้รายละเอียดอะไรมากนัก)  และได้พาอาสาฯ เดินตรวจสอบเครือข่ายที่เชื่อมโยงไปยังห้องต่างๆ ตามแบบที่ผมได้รับจาก IT ส่วนกลาง  (โชคดีที่ผมได้เข้ามาเดินสำรวจก่อนหน้านั้นแล้ว)  ผมได้ให้อาสาฯ  เดินสำรวจหาจุดปล่อยสัญญาณเครือข่ายเอง  เพื่อจะได้ทำความคุ้นเคยกับโครงสร้างอาคารที่ซับซ้อนของ Main Stadium ไปในตัวด้วย

athlethes_level_floor_1.gif

ชั้น 1 ด้านหน้าของ Main Stadium

athlethes_level_floor_2.gif

ชั้น 1 ฝั่งลานพญานาค (ด้านหลัง)
Register ในที่นี้ก็คือห้อง call room นั่นเอง

athlethes_level_floor_3.gif

บริเวณสี่มุมของสนามหญ้าจะมีการเดินสายไฟเบอร์ ไปที่ห้องควบคุม
ซึ่งในแต่ละวันของการแข่งขัน ทีมของผมจะต้องนำ Switch ไปติดตั้งที่แต่ละมุมของสนาม

fiber_corner.jpg

ผมได้แปลนข้างต้นมาจาก IT ส่วนกลาง  ซึ่งไม่มีการอธิบายแปลนอะไรมาก  ขอบอกตรงๆ ว่าผมเพิ่งจะเข้าใจแปลนบางส่วนในวันที่เขียนบล็อกนี้เอง  นอกจากนี้ผมได้ทราบภายหลังว่ามีการเปลี่ยนแปลงการเดินสายเครือข่ายในบางจุด และก็ไม่มีการแจ้งข้อมูลนี้กับผมไว้  ทำให้ผมกับอาสาฯ เดินส่องแล้วส่องอีกก็แล้วก็ไม่พบการเดินสายไว้ 

สิ่งที่สำคัญก็คือ ผมได้เข้าใจผิดอย่างมากที่คิดว่าการเดินสายต่างๆ นั้นได้ถูกดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีเพียงส่วนหลักๆ บางส่วนเท่านั้นที่ได้เดินสายไว้แล้ว เช่น สายไฟเบอร์ในสนาม ซึ่งผมได้ทราบมาจากเจ้าหน้าที่ส่วนกลางว่าการเดินสายไฟเบอร์ภายในต่างๆ นั้น  เพิ่งจะแล้วเสร็จเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมนั่นเอง

ส่วนการเดินสายภายในห้องต่างๆ นั้นยังไม่ได้ดำเนินการ และมีหลายครั้งหลายหนที่ผมต้องลุ้นระทึกว่า เจ้าหน้าที่ส่วนกลางจะมาเดินสายแลนที่หลือให้ผมวันไหนและเมื่อไหร่  ทั้งๆ ที่จะแข่งขันอยู่ไม่กี่วันข้างหน้าแล้ว  ผมเคยเจรจาขอให้เจ้าหน้าที่เดินสายทิ้งไว้ก่อน  แต่เขาไม่ยอมทำให้โดยให้เหตุผลว่าจะต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์ไปตั้งไว้ก่อนแล้วจึงจะเดินสายให้  เพราะเขาเคยเดินสายไว้ให้บางสนามแล้ว  แต่ปรากฎว่าต้องถูกรื้อแก้ไขบ่อยครั้ง

ส่อแววปัญหาตั้งแต่ติดตั้งอุปกรณ์

ตั้งแต่ในช่วงค่ำของวันที่ 1 สิงหาคม  ขณะที่ผมกำลังจะเตรียมตัวกลับที่พัก  ก็พบว่าอยู่ๆ เจ้าหน้าที่ส่วนกลางนำอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่างๆ มาส่งพร้อมกับติดตั้งและเดินสายเน็ตเวิร์คในห้องควบคุมไว้ด้วย  ดังที่ผมเคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้แล้ว (อ่านที่นี่)

เจ้าหน้าที่ IT ส่วนกลางจาก สกอ. มีหลายคนมาก  ผมเจอหลายๆ คนและรู้จักกันที่สนาม  แต่ละคนก็ต้องรีบเร่งทำงานในส่วนของตัวเองให้เสร็จ  บางคนก็อัธยาศัยดี สนุกสนานเฮฮา  ในขณะที่บางคนก็ดูเคร่งเครียด  และบางคนก็โบ้ยงานในส่วนของตัวเองมาให้ผมทำได้อย่างหน้าตาเฉย? (หรือเรียกว่าปัดความรับผิดชอบนั่นเอง)

บริษัทที่ สกอ. เช่าอุปกรณ์รวมค่าขนส่ง ในราคาที่เฉียดๆ กับราคาซื้อเครื่องมานั้นก็คือ บริษัท SVOA  ซึ่งบริษัทก็ได้จ้างนักศึกษาให้มาช่วยงานในการขนส่ง ติดตั้งอุปกรณ์ พร้อมทั้งเดินสายเครือข่ายด้วย  ซึ่งในวันทีมาติดตั้งคอมพิวเตอร์และเดินสายเครือข่ายในห้องควบคุมนั้น ผมก็อยู่สังเกตการโดยตลอด

ผมได้เห็นวิธีการเข้าหัวสายแลนโดยไม่มีอุปกรณ์ตรวจสอบใดๆ ว่าการเข้าหัวถูกต้องหรือไม่  ผมเห็นความลังเลในวิธีการเข้าหัวสายจากนักศักษาช่วยงาน  ผมเห็นเจ้าหน้าที่บริษัทต้องมาเข้าหัวสายใหม่  และผมเห็นวิธีการลากสายด้วยความมักง่าย  ทำให้เกิดคอขวดโดยไม่จำเป็น  คือแทนทีจะลากสายเข้าไปที่สวิทช์หลักโดยตรง  กลับลากไปเพียงหนึ่งเส้น และใช้สวิทช์ 8 พอร์ตตัวเล็กๆ มากระจายไปยังเซอร์เวอร์แต่ละตัวอีกที  ทั้งๆ ที่สวิชท์กับเครื่องคอมอยู่ห่างกันไม่กี่เมตรเท่านั้น  อีกทั้งยังมีความสับสนว่าจะติดตั้งคอมพิวเตอร์ไว้ที่จุดใดบ้าง จนต้องพากันไปสอบถามเจ้าหน้าที่ของสมาคมกรีฑาว่าต้องการอย่างไร  นอกจากนี้ยังลืมเดินสายแลนในบางจุดด้วย  ซึ่งผมได้ตรวจสอบพบภายหลังก่อนการแข่งขันไม่กี่วัน  

ปัญหาแรกที่เกิดขึ้นกับเครือข่าย 

ในที่สุดความประมาทในการทำงานข้างต้น  ก็ส่งผลให้เครื่องคอมพิวเตอร์ใช้งานเครือข่ายไม่ได้  เพราะการเข้าหัวสายผิด  ที่สำคัญสายแลนที่เชื่อมระหว่างสวิทช์ 8 พอร์ตและสวิทช์หลักก็เกิดปัญหาขึ้นจริงๆ  จนในที่สุดก็ต้องรื้อและลากสายจากเซิร์ฟเวอร์ต่างๆ เข้าไปยังสวิชท์หลักโดยตรง  ทำให้เสียเวลาในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ 2-3 วัน  สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้เจ้าหน้าที่ส่วนกลางที่ต้องมานั่งแก้ปัญหา  ต้องพาทีมงานเข้ามารื้อสายแลนและทำการติดตั้งลากสายใหม่ ซึ่งคราวนี้ได้นำอุปกรณ์ตรวจสอบสายมาใช้งานด้วย  ความผิดพลาดนี้ทำให้ทีม MSL เสียเวลาในการติดตั้งโปรแกรมการแข่งขันไปด้วย

ผมพบว่าได้ตัวเองได้ทำบางอย่างที่ผิดพลาดไปในวันนี้  คือลืมขอรายละเอียดว่าต้องทำการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ  ที่ห้องไหนบ้าง ซึ่งการขอข้อมูลนี้ในภายหลังเป็นสิ่งที่ยุ่งยากมาก (ว่าแต่ทำไมผมจึงไม่ได้รับข้อมูลนี้ตั้งแต่แรก? ทั้งๆ ที่เป็นข้อมูลที่จำเป็นในการทำงาน)  ในที่สุดผมก็ต้องตัดสินใจติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ตามความเข้าใจของตัวเอง   และผมก็พบว่าในห้องเก็บอุปกรณ์เหลือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้ทำการติดตั้ง 3 เครื่อง เครื่องพิมพ์อีก 1 เครื่อง  เครื่องส่งโทรสารอีก 3 เครื่อง  ซึ่งในเมื่อไม่มีใครเดือดร้อนผมก็จึงไม่ต้องทำการติดตั้งอุปกรณ์ที่เหลือนี้ 

IT Manager @ TU Main Stadium

Universiade 2007 ได้ผ่านไปแล้ว  ผมพยายามจะเขียนเรียบเรียงประสบการณ์ที่ตัวเองได้พบเจอในช่วงการทำงานเป็นอาสาสมัคร  เพื่อบันทึกไว้เตือนความจำว่าได้พบเจอเรื่องราวอะไรบ้าง  ความตั้งใจเริ่มแรกนั้น  ผมตั้งใจว่าจะบันทึกการทำงานแบบวันต่อวัน  แต่ก็ไม่สามารถทำได้  เพราะเหนื่อยมากจนไม่มีเวลาเขียน 

ผมขอย้อนกลับไปเล่าเรื่องราวตั้งแต่แรกเริ่มก่อน 

ผมเป็นอาสาสมัครกีฬามหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศที่ Main Stadium  แต่ละสนามแข่งขันต่างๆ ของธรรมศาสตร์จะมีอาจารย์หรือเจ้าหน้าที่จากธรรมศาสตร์เป็นอาสาสมัครทำงานในตำแหน่งเดียวกันนี้   ซึ่งที่จริงนั้นผมทราบในเบื้องต้นว่าจะได้เป็น IT Manager ที่สนามซอฟท์บอล  แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงกระทันหันในวินาทีสุดท้าย  

ผมได้รับแจ้งอย่างกระทันหันประมาณ 9 โมงเช้าในวันหนึ่งปลายเดือนกรกฎาคมว่าผมได้รับมอบหมายให้เป็น IT Manager ประจำ Main Statdiun และในเวลา 9.30 น. (อีกครึ่งชั่วโมง) จะมีประชุมที่ Main Stadium  และให้ผมเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย 

org-chart.gif

โครงสร้างองค์กรที่ Main Stadium จะมีผู้จัดการสนาม (Venue Manager) อยู่สูงสุด รองลงมาก็จะเป็นผู้จัดการ 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้จัดการฝ่ายเทคนิคกีฬา (Sport Technical Manager)  ผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Manager) และผู้จัดการฝ่ายรักษาความปลอดภัย (Security Manager) 

แม้ Main Stadium จะอยู่ใกล้กับที่พักของผมแค่ 5 นาที  แต่ผมไม่เคยไปเหยียบที่นี่เลย  ผมทราบหมายเลขห้องประชุม  แต่การเดินหาห้องประชุมในสนามกีฬาขนาดใหญ่ ซึ่งมีห้องมากมายและทางเดินที่สลับซับซ้อนมาก ทำให้ใช้เวลากว่า 20 นาทีในการเดินหาห้องประชุม

เมื่อเข้าห้องประชุมแล้ว  ผมก็พบว่ามีคนมากมาย ไม่ต่ำว่า 20 คน กำลังนั่งประชุมกันอยู่ และดูเหมือนว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายแล้วด้วย (?)  ผมจึงเป็นผู้เข้าร่วมประชุมที่ไม่รู้เรื่องราวอะไรในที่ประชุมเลย  และทำให้ผมไม่แน่ใจว่าผมเป็น IT Manager ของสนามนี้จริงๆ หรือไม่  เพราะดูเหมือนจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรเท่าไหร่  จะมีการกล่าวถึงก็แต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น  ในที่สุดผมก็ออกจากห้องประชุมด้วยความงงงวย ว่าฉันมาทำอะไรที่นี่?

เกี่ยวกับ IT ส่วนกลาง กับ IT Manager

ที่จริงแล้วนอกจากผมจะอยู่ภายใต้ผู้จัดการสนามตามโครงสร้างองค์กรแล้ว  ในฐานะ IT Manager นั้นเสมือนเป็นตัวแทนหรือผู้ประสานงานของคณะกรรมการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)  ขอเรียกว่า ‘IT ส่วนกลาง’  ซึ่งก็คือหน่วยงาน Uninet เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)

IT ส่วนกลางเป็นผู้ออกแบบและติดตั้งเครือข่ายเน็ตเวิร์ค เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อื่นๆ รวมทั้งดูแลเครือข่ายในช่วงระหว่างการแข่งขัน   แต่เนื่องมีบุคลากรไม่เพียงพอ  จึงต้องขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เป็นสนามแข่งขัน ให้จัดหาบุคลากรมาทำงานให้ตำแหน่ง IT Manager และผู้ช่วยของแต่ละสนามด้วย (อ่านข่าวเก่าเพิ่มเติม)

ในการแข่งขันกีฬาครั้งนี้ได้ใช้ IT เข้ามาเกี่ยวข้องมาก  เพราะได้ว่าจ้างบริษัท Swiss Timing ของสวิสเซอร์แลนด์ ให้เป็นผู้บันทึกสถิติการแข่งขัน และบริษัท MSL ของสเปน ซึ่งดูแลเกี่ยวกับโปรแกรมการแข่งขันและการรายงานผล  โดยเป็นการรายงานผลการแข่งขันแบบ real time เมื่อผลการแข่งขันสรุปผลเป็นการการแล้ว สามารถที่จะนำขึ้นแสดงบนเว็บไซต์ได้ทันที  

result-bkk2007.jpg

ผมเข้าใจว่าจากข้อตกลงนั้น IT ส่วนกลางจะต้องเป็นผู้จัดเตรียมเครือข่ายเน็ตเวิร์ค อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น โทรศัพท์ เครื่องโทรสาร ให้เรียบร้อยก่อนการแข่งขัน  โดยมีบริษัท กสท.  ทำการเชื่อมโยงสัญญาณเครือข่ายระหว่างสนามแข่งขันต่างๆ  บริษัท เอสวีโอเอ ให้เช่าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์  บริษัท ทรู คอร์ปอเรชัน สนับสนุนหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ และโทรศัพท์พื้นฐาน

สกอ. ได้เชิญผมเข้าร่วมการประชุมเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับลักษณะของงานในตำแหน่งของ IT Manager ในช่วงก่อนการแข่งขัน 2 – 3 ครั้ง แต่ก็ยังขาดความชัดเจนในขอบข่ายการทำงาน  ทำให้ IT Manager แต่ละท่านค่อนข้างเป็นกังวลในการทำงานครั้งนี้

ในช่วงแรกของการทำงานจึงเป็นลักษณะเหมือนการต่อจิ๊กซอว์ส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันทีละส่วน จนได้ภาพที่ชัดเจนก่อนการแข่งขันไม่กี่วัน!   ซึ่งผมสรุปได้ว่าในฐานะของ IT Manager ผมจะเป็นผู้ประสานงานระหว่าง IT ส่วนกลาง กับ Swiss Timing/MSL  และระหว่าง IT ส่วนกลาง กับ ฝ่ายเทคนิคกีฬา (สมาคมกรีฑาฯ)   และระหว่าง Swiss Timing/MSL  กับ เทคนิคกีฬา (สมาคมกรีฑาฯ)   สิ่งที่สำคัญก็คือผมต้องทำหน้าที่บริหารจัดการระบบ IT ของสนามให้ทำงานได้โดยไม่มีปัญหาตลอดช่วงการแข่งขัน  

itm-connection.gif

ดูแล้วเหมือนไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมากมายใช่ไหมครับ  แต่ว่าปัญหาและอุปสรรคที่ผมได้เจอนั้นเหมือนกับ 90% ของภูเขาน้ำแข็งที่ซ่อนอยู่ใต้น้ำ  มากมายจนนึกไม่ถึงเลย!

24th Universiade 2007 – ก่อนการแข่งขัน

ผ่านไป 3 วัน  ผมก็พบว่าเครือข่ายของห้องควบคุมมีปัญหาทุกๆ เช้า  เพราะไม่สามารถติดต่อส่งข้อมูลกับส่วนกลางได้   ผมจึงได้ประสานงานแจ้งไปทาง IT ส่วนกลางให้เข้ามาดำเนินการแก้ไข   ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานติดต่อกันที่สนามกีฬาหลักก็ได้เข้ามาแก้ไข  ซึ่งก็ยังแก้ไขไม่ได้  ขณะเดียวกันเจ้าหน้าก็ต้องวิ่งไปวิ่งมาระหว่าง 2 สนามด้วย  คือ สนามกีฬาหลักและสระว่ายน้ำ  

เวลาผ่านไปเป็นชั่วโมง ทีม MSL ก็ได้แต่เฝ้ารอคอยการแก้ปัญหาทางเครือข่าย  เจ้าหน้าที่ IT ก็ได้ทำการรื้อสายเน็ตเวิร์คบางสายและเดินสายใหม่ทดแทน แต่ปัญหาก็ยังไม่หาย   จนกระทั่งประมาณเที่ยงก็มีทีมงานจากส่วนกลางซึ่งมีเจ้าหน้าที่ผู้มีประสบการณ์ก็เข้ามาช่วยแก้ปัญหา  ในที่สุดก็ต้องทำการรื้อสายที่เดินไว้ตั้งแต่ครั้งแรกทั้งหมด   ซึ่งในที่สุดก็พบว่าปัญหาคือทีมแรกที่มาเดินสายนั้นเข้าหัวสายเน็ตเวิร์คไม่ดี  และนอกจากนั้นดูเหมือน switch จะมีปัญหาในบางพอร์ต

หลังจากผมกลับมาจากข้างนอกก็พบว่าทีมงานของส่วนกลาง ได้แก้ปัญหาเครือข่ายเสร็จแล้ว  และทีมงานของ MSL ก็กำลังโหลดข้อมูลของนักกีฬาลงฐานข้อมูลอยู่

behind_msl.jpg

 แต่วันนั้นปัญหายังไม่หมดสิ้น  เพราะในขณะที่ผมอยู่ที่ห้องผู้จัดการสนาม  เจ้าหน้าที่ผู้หญิงของ MSL ก็หน้าตาตื่นวิ่งเข้ามาเรียกผมบอกว่า  “we need you now!”  เธอพยายามอธิบายให้ผมฟัง ซึ่งจับใจความได้ว่ามีน้ำตกลงมา  แต่ผมก็ไม่เข้าใจเธอนัก (เธอเป็นชาวสเปน)  เพราะภาษาของผมและเธอก็อยู่ในระดับพอๆ กัน

พอเข้าไปในห้องก็พบว่า รปภ.คนหนึ่งได้เข้ามาในห้องก่อนแล้ว  และกำลัง ว. แจ้งรปภ. คนอื่นให้ทราบว่า น้ำกำลังรั่วจากแอร์ และหยดลงบนเครื่องกระจายเสียงของสนามกีฬา  ซึ่งผมทั้งตกใจและขำ  เพราะทาง MSL พยายามเอาขวดน้ำมารองน้ำที่หยดลงมาจากแอร์ไว้  ซึ่งก็รองน้ำไว้ได้ 2 ขวดกว่าๆ จนกระทั่งไม่ทราบว่าไปคว้าถังขยะมาจากที่ไหน  และเอาไปตั้งรองน้ำไว้แทน

หลังจากนั้นไม่นานเจ้าหน้าที่แอร์ประจำสนามก็เข้ามาดำเนินการแก้ไข  ซึ่งผมได้รับแจ้งว่าสาเหตุเกิตจากท่อแอร์ตันนั่นเอง  และในวันถัดมาก็เกิดปัญหานั้นอีก  หวังว่าในวันแข่งขันนั้นจะไม่เกิดปัญหานี้

ในขณะที่ผมกำลังเดินทางกลับก็พบว่ามีทีมติดตั้งสายโทรศัพท์มาถึงห้องพอดี  ทำให้ผมต้องรออำนวยความสะดวกจนกระทั่งทำการติดตั้งโทรศัพท์แล้วเสร็จ  พร้อมๆ กับมีการเดินสายเน็ตเวิร์คเพิ่มเติมในส่วนที่ขาดด้วย

นับเป็นวันที่ยุ่งเหยิง ผมมาทำงานที่ Main Stadium 9 โมงครึ่งและเดินทางกลับตอน 21.30 น.  วันนั้นผมเป็นเจ้าหน้าที่ของงานคนสุดท้ายที่เดินออกจากสนาม 😉

อาสาสมัครกีฬาม.โลก

วันหยุดยาวที่ผ่านมานั้น อาสาสมัครซึ่งเป็นนักศึกษาและทีมงานฝ่าย ICT ของการแข่งขันกีฬาม.โลก ไม่ได้หยุดไปกับเขาด้วย  เพราะมีการประชุมเพื่ออธิบายเกี่ยวกับโครงสร้าง IT ทั้งหมดของการแข่งขัน  เพราะส่วนหนึ่งของอาสาสมัครจะต้องไปช่วยตามสถานที่แข่งขันต่างๆ   ซึ่งจะมีทั้งช่วยงาน แก้ปัญหา IT ทั่วไป  และช่วยกรอกข้อมูลผลการแข่งขัน (Data entry)

ขณะที่อาสาสมัครกำลังรับการอบรม  ผมก็ต้องไปสังเกตการณ์ด้วย  เพราะจะต้องมีอาสาสมัครส่วนหนึ่งที่ต้องมาทำงานภายใต้การควบคุมของผม  อาสาสมัครทั้งหมดเป็นนักศึกษามาจากสถาบันต่างๆ  ในห้องนั้นประมาณ 300 คน  ซึ่งเป็นธรรมดาที่มีทั้งใส่ใจและไม่ใส่ใจสิ่งที่ผู้บรรยายกำลังอธิบายให้ฟัง

แล้วในที่สุดผมก็ได้ตัวอาสาสมัครช่วยงาน IT ทั่วไปมาทั้งหมด 7 คน  เรียนอยู่สาย IT 2 คน  เรียนสาขาวิทยาศาสตร์สถิติ 4 คน และอีก 1 คนเรียน JC  จากการสอบถามพื้นความรู้เกี่ยวกับ IT ก็พบว่ามีเพียง 2 คนที่เรียนทางด้าน IT นั้นแหละที่เหมาะสมกับงานนี้ที่สุด  ทำให้ผมต้องตัดสินใจอบรมความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการตรวจสอบเครือข่ายให้กับเด็กๆ พวกนี้  ให้พอมีพื้นความรู้ที่จะพอช่วยทำหน้าที่ให้บริการผู้ใช้ต่างๆ ได้

นอกจากนี้ยังมีอาสามัครที่ทำหน้าที่ป้อนข้อมูลผลการแข่งขันอีก 6 คน  และอาสามัครเกี่ยวกับการจับเวลาและการถ่ายรูปตอนเข้าเส้นชัยอีก 7 คน  ซึ่งทั้ง 13 คนนี้ผมยังไม่เห็นหน้าค่าตาจนกว่าจะถึงการอบรมการใช้อุปกรณ์และโปรแกรมในสัปดาห์หน้านี้   รวมแล้วก็มีอาสาสมัครช่วยงานทั้งสิ้น 19 คนที่จะต้องดูแล

โปรแกรมการอบรมนั้นมีจนถึงวันสุดท้ายก่อนการแข่งขัน 1 วันครับ  ไม่แน่ใจว่าเพื่อป้องกันไม่ให้อาสามัครลืมหรือเปล่า อบรมเสร็จวันรุ่งขึ้นก็แข่งขันเลย 😉

อย่างไรก็ตามอาสาสมัครเหล่านี้ล้วนมาด้วยใจ  เพราะค่าตอบแทนเพียง 200 กว่าบาทต่อวัน  กับความยากลำบากในเรื่องที่พักอาศัย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ  ที่ไม่มีมาอำนวยเท่าไหร่นั้น  ไม่คุ้มค่าเหนื่อยเลย  สิ่งที่คุ้มค่าก็คงจะเป็นประสบการณ์ที่ได้ติดตัวกลับไป

ในช่วงเย็นๆ วันที่ 1 ส.ค. ก็มีการติดตั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเดินสายเน็ตเวิร์คในห้องควบคุม  เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งมีทั้งหมดสิบกว่าเครื่อง  ผมก็ได้เข้าไปสังเกตการณ์ทีมงานติดตั้ง ซึ่งนักศึกษาที่ถูกจ้างมาช่วยงานส่วนหนึ่งก็เป็นลูกศิษย์ของผมเอง  เห็นแล้วก็ไม่ทราบว่าจะดีใจหรือเสียใจกันแน่  ก็ได้แต่หวังว่าจะไม่เกิดปัญหาอะไรขึ้นในระหว่างการแข่งขันกรีฑา 6 วันข้างหน้า  (9 – 14 ส.ค. 50) 😎

msl.jpg

คอมพิวเตอร์ชุดที่ใช้ประมวลผลการแข่งขันโดยใช้โปรแกรมของ MSL

info_client.jpg

คอมพิวเตอร์ชุดที่เจ้าหน้าที่จากสมาคมกรีฑาจะใช้งาน

st.jpg

คอมพิวเตอร์ชุดของ Swiss Timing ซึ่งจะต่อเข้ากับเครื่องถ่ายภาพที่เส้นชัย
และเครื่องจับเวลาการแข่งขัน

main_switch.jpg

สวิทช์หลักของ Main Stadium เชื่อมไปยังเครือข่ายหลักผ่านไฟเบอร์ออปติก

sub_switch.jpg

สวิทช์อีก 8 ตัวที่ยังไม่ได้ถูกติดตั้ง  เมื่อถูกติดตั้งแล้วจะกระจายไปอยู่ในส่วนต่างๆ ของสนาม
ซึ่งผมจะต้องดูแลด้วย เลยต้องแปะ Post-it บอกไว้ว่า ก่อนจะทำไปติดตั้งกรุณาโทรแจ้งด้วย จะได้รู้ว่าสวิทช์เหล่านี้จะไปสิงสถิตย์อยู่ที่ไหนบ้าง

กีฬามหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อน ครั้งที่ 24

กีฬามหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อน ครั้งที่ 24  หรือ Universiade 24th  กำลังจะเริ่มขึ้นอีกไม่กี่วันข้างหน้า  มีใครทราบบ้างครับ?

มหาวิทยาลัยประมาณ 150 แห่งทั่วโลก  ส่งนักกีฬามาเข้าร่วมการแข่งขันประมาณหนึ่งหมื่นคน ซึ่งทั้งหมดจะพักอยู่ที่หอพักเอเชียนเกมส์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

กีฬาที่แข่งขันมีทั้งหมด 15 ประเภท ใช้สถานที่ในการแข่งขัน 14 แห่ง (ทั้งในกรุงเทพและปริมณฑล)  ใช้สนามแข่งขันทั้งหมด 36 สนาม

เนื่องจากนักกีฬาทั้งหมดต้องพักที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต  ทำให้มีการเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยมาก  ในช่วงวันที่ 1 – 20 ส.ค. นี้การเข้าออกและจอดรถ จะต้องมีบัตรผ่าน ผู้ที่ไม่มีบัตรจะต้องจอดรถไว้บริเวณที่จอดไว้ให้ และใช้บริการขนส่งภายในที่ได้จัดบริการไว้  และเส้นทางเดินรถก็ปรับเปลี่ยนบางเส้นให้เป็นวันเวย์ และกำหนดให้มีการเข้าและออกได้ตามประตูที่กำหนด

บริเวณที่พักนักศึกษานั้นเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยมาก มหาวิทยาลัยได้ทำรั้วขึ้นมาปิดทางเข้าออกส่วนของหอพักทั้งหมด กำหนดให้มีเส้นทางเข้าออกได้เฉพาะที่กำหนด รถที่ไม่ได้รับอนุญาตจะเข้าออกไม่ได้เลย 

ความปลอดภัยที่เข้มงวดแบบนี้ก็ส่งผลกับความสะดวกของบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่อาศัยอยู่บริเวณเดียวกัน  เพราะขับรถเข้าออกไม่ได้  และต้องใช้บริการรถขนส่งที่ต้องวิ่งออกจากมหาวิทยาลัย อ้อมมาเข้าประตูอีกด้านหนึ่ง   ซึ่งสร้างความสับสน งงงวยแก่บุคลากรข้างในมากพอควร

บุคลากรส่วนหนึ่งก็เป็นอาสาสมัครช่วยการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยครั้งนี้ด้วย  ผมเองก็เป็นอาสาสมัครได้รับตำแหน่งเป็น IT Manager ดูแลสนามกีฬาหลัก (Main Stadium) ที่ธรรมศาสตร์  ต้องควบคุมดูแลเรื่องเกี่ยวกับ IT ของสนามทั้งหมด เช่น การรายงานผลการแข่งขันผ่านทาง Swiss Timing  การถ่ายทอดสด รวมไปถึงการใช้งาน walky talky ด้วย

เมื่อวันก่อนผมไปเดินสำรวจที่ Main Stadium เลยเก็บภาพมาบางส่วนด้วย

1.jpg

2.jpg

Swiss Timing มีสกอร์บอร์ดมาด้วย แต่เนื่องจาก Main Stadium ก็มีสกอร์บอร์ดซึ่งใหญ่กว่า ทำให้ต้องมีการเชื่อมระบบของ Swiss Timing เข้ากับสกอร์บอร์ดนี้ด้วย  ผมทราบมาว่าในการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์นั้นสามารถเชื่อมต่อกันได้  แต่ก็ต้องทำการทดสอบกันอีกครั้ง มีลุ้นในสัปดาห์หน้า

3.jpg

กำลังช่วยกันติดธง

4.jpg

ส่องๆ เล็งๆ  แล้วก็ “OK!”

5.jpg

“OK?”

6.jpg

งานที่น่ากลัวสำหรับคนกลัวความสูงคงจะเป็นงานนี้  ที่ต้องขึ้นไปติดตั้งสปอร์ตไล้ท์บนหลังคา
คนที่อยู่ข้างล่างผูกเชือกเข้ากับหลอดไฟ ส่วนข้างบนก็คอยดึงหลอดไฟขึ้นไป

7.jpg

ทีนี้ก็ช่วยกันประกอบสปอร์ตไลท์บนหลังคา

8.jpg

13 Numbers

ยังไม่ทันไรก็มีข่าวจากประชาไทแจ้งว่า เว็บบอร์ดและบล็อกนั้นไม่จำเป็นต้องจัดเก็บหมายเลขประจำตัวประชาชนของผู้ใช้บริการแล้ว   ก็เป็นอันว่าความพยายามที่จะฝืนธรรมชาติอย่างหนึ่งของอินเทอร์เน็ตก็หมดสิ้นลง  พร้อมๆ กับการดำรงอยู่ต่อไปของ บุคคลนิรนาม ตามเว็บบอร์ดและสถานที่ต่างๆ  

นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณี “ประกาศรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. 2550” ที่จะออกมาเป็นกฎหมายเสริมพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 อันจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 18 ก.ค. ที่จะถึงนี้ว่า

กรณีที่ก่อนหน้านี้ ในร่างของประกาศฯ (ฉบับปรับปรุงเมื่อวันที่ 4 ก. ค.) เขียนไว้ว่า กรณีเว็บบอร์ดและเว็บบล็อกนั้น ผู้ให้บริการต้องเก็บข้อมูลทั้ง ชื่อ สกุล รหัสประจำตัวประชาชนของผู้ใช้บริการ และ/หรือ เลขบัญชีธนาคาร และ/หรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการชำระเงิน เช่น เลขบัญชีธนาคาร เลขบัตรเครดิต

ล่าสุด เนื้อหาดังกล่าวมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาแล้ว โดยยกเลิกการเก็บข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชน คงเหลือเพียงหมายเลขไอพีแอดเดรส และวันเวลาที่ผู้ใช้บริการเข้าถึงเท่านั้น ในกรณีเว็บไซต์ทางการค้านั้น อาจจะยังคงให้กรอกหมายเลขบัตรเครดิต

สมมตินะครับ  สมมติว่าแท้จริงแล้ว  เรื่องนี้เกิดจากเจ้าหน้าที่บางคน/บางกลุ่มได้แก้ไขเพิ่มเติมร่างประกาศการเก็บข้อมูลนี้ให้เป็นไปอย่างที่ตนต้องการ โดยไม่สนใจเสียงทัดทานจากคณะกรรมการที่เป็นผู้พิจารณาร่างประกาศฉบับนี้  ซึ่งแม้ว่าความพยายามนี้จะไม่บรรลุผล  แต่บุคคลผู้นี้/กลุ่มนี้และความพยายามที่จะควบคุมเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของประเทศก็ยังคงอยู่   การกระทำครั้งนี้อาจจะเปรียบเหมือนโยนหินถามทาง และฉวยโอกาสอาศัยช่วงจังหวะระยะเวลาทีเผลอของชาวเน็ต  ทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ

ความพยายามนี้จะมีขึ้นอีกในอนาคตหรือไม่  ก็ต้องเฝ้าคอยติดตามเรื่องสมมตินี้ต่อไป  เพราะเราสามารถสร้างเรื่องสมมติให้เป็นจริงได้เสมอ  🙄