TU Edutainment Room

เมื่อวานนี้ (25 มิ.ย. 2550) เป็นวันครบรอบ 25 ปีของการก่อตั้งสถาบันประมวลข้อมูลเพื่อการศึกษาและการพัฒนา (สปข.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีพิธีเปิดห้องศูนย์รวมความรู้และความบันเทิง (TU Edutainment Room) โดย ศ.ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี

ห้อง TU Edutainment ตั้งอยู่ที่อาคารคณะศิลปศาสตร์ชั้น 1 ด้านศูนย์ประสานงาน คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ท่าพระจันทร์ จากเดิมที่เป็นห้องเก็บของรกๆ ได้กลายมาเป็นห้องที่ให้บริการความรู้และความบันเทิงแก่นักศึกษา

ผมได้เข้าร่วมพิธีนี้ด้วย เลยเก็บภาพมาเป็นที่ระลึก

img_0261.jpg

img_0251.jpg

img_0257.jpg

img_0262.jpg

img_0263.jpg

TOT ยอมปล่อยตัวประกันแล้ว

หลังจากที่ TOT ได้จับ blogspot เป็นตัวประกัน  โดยไม่ยอมให้ผู้ใช้บริการในเครือข่ายของตนได้เข้าไปอ่านบล็อกที่ blogspot เลย  บัดนี้ได้กลับตัวกลับใจยอมปล่อยตัว blogspot  แล้ว  หลังจากที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเจ้าอื่นๆ ได้ปล่อย blogspot ตั้งนมนานแล้ว (อ้างอิงจาก blognone)

แต่ผู้ใช้บริการของ TOT ADSL อย่าเพิ่งดีใจเกินไปนัก  ครั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้ดูแลระบบเดินเตะสายไฟ ทำให้ปลั๊กของเซิร์ฟเวอร์หลุด เครื่องที่ทำหน้าที่บล็อกเว็บเลยใช้งานไม่ได้ชั่วคราว  ซึ่งพอได้สติและเสียบปลั๊กกลับเข้าไปแล้ว  ก็คงจะเข้าใช้งาน blogspot ไม่ได้เหมือนเดิม

หึหึ   😆

ดูภาพ รูป FACThai ที่พันทิพย์

ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับนามสกุลพระราชทาน

“22 มีนาคม 2455 (ค.ศ.1912) แต่เดิมคนไทยนั้นไม่มีชื่อสกุล หรือนามสกุล มีแต่ชื่อตัวหรือนามบรรดาศักดิ์ จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ประกาศใช้พระราชบัญญัติขนานนามสกุลขึ้น แต่พระราชบัญญัตินี้ก็มีการเลื่อนใช้อยู่หลายครั้ง จนกระทั่งครั้งสุดท้ายที่นำมาใช้คือ วันที่ 1 เมษายน 2461 และตั้งแต่นั้นมา คนไทยก็มีนามสกุลพ่วงท้ายชื่อของทุกคนส่วนนามสกุลที่มี “ณ” นำหน้านั้น เป็นนามสกุลพระราชทานให้แก่ ราชนิกูล ข้าราชการ และให้แก่คหบดีที่อยู่อาศัยในสถานที่นั้นๆ มาช้านาน และมีผู้ยกย่องนับถือเช่น คำว่า ณ อยุธยา เป็นเครื่องหมายนามสกุลของเจ้านายในราชวงศ์จักรี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน โดยครั้งแรกพระราชทานนามว่า “ณ กรุงเทพฯ” ต่อมาในวันที่ 24 มีนาคม 2468 จึงประกาศเปลี่ยนเป็น “ณ อยุธยา” ทั้งนี้เพราะคำว่า”กรุงเทพฯ” เป็นชื่อของมหานออครทั้งในอดีตและปัจจุบัน คือ “กรุงเทพมหานคร บวรทวารวดีศรีอยุธยา” ซึ่งในปัจจุบันเปลี่ยนเป็น “กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์” ส่วนพระบรมราชวงศ์นี้ เดิมเป็นนามสกุลอยู่ในพระนครศรีอยุธยา จึงควรเปลี่ยนมาให้ตรงกับความเป็นมานอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงออกประกาศอีกด้วยว่า ห้ามผู้หนึ่งผู้ใดใช้ ณ นำหน้าสกุลของตน ยกเว้นนามสกุลที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามสกุลให้แก่ผู้ขอพระราชทานกว่า 5,600 นามสกุลทั่วประเทศในเวลานั้น”

ที่มา: http://www.wing21.rtaf.mi.th/board/question.asp?QID=1251

“3. การขอเปลี่ยนชื่อสกุลสามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

3.1 ต้องเป็นคำที่ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย หรือพระนามของพระราชินี
3.2 ต้องเป็นคำที่ไม่พ้องหรือให้คล้ายกับพระราชทินนาม เว้นแต่เป็นราชทินนามของตน ของบุพการี
หรือของผู้สืบสันดาน
3.3 ต้องเป็นคำที่ไม่ซ้ำกับชื่อสกุลพระราชทาน หรือชื่อสกุลที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว
3.4 ไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย
3.5 มีพยัญชนะไม่เกิน 10 พยัญชนะ เว้นแต่กรณีเป็นราชทินนาม
3.6 ผู้ที่ไม่ได้รับพระราชทานชื่อสกุล ห้ามใช้คำว่า “ณ” นำหน้าชื่อสกุล
3.7 ห้ามเอานามพระนครและศัพท์ที่ใช้เป็นพระบรมนามาภิไธยมาใช้เป็นชื่อสกุล”

ที่มา: กรมการปกครอง (http://www.dopa.go.th/dload/name1.htm)

“มีเกร็ดเล็กน้อยว่า เมื่อพระองค์จะพระราชทานนามสกุลแก่ผู้ใดพระองค์จะทรงศึกษาให้ทราบถึงความเกี่ยวดองซึ่งกันและกันของแต่ละสกุลโดยละเอียด หากทรงพบว่าบรรพบุรุษได้ทำคุณงามความดีมีวิทยฐานะและอาชีพอะไร ก็จะทรงแปลงคำมาจัดสรรให้ได้มงคลนามต่างๆ ขึ้นให้ไพเราะเหมาะสม พระองค์ทรงแยกพวกเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงไว้ฝ่ายหนึ่ง ส่วนขุนนางข้าราชบริพารก็ทรงจำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ เช่น มีรกรากเหล่ากอปกครองบ้านเมืองมาแต่ก่อนเก่า ก็ทรงขนานนามสกุลให้เป็นผู้มาจากแหล่งต่างๆ เช่น ณ ระนอง, ณ ถลาง, ณ เชียงใหม่ ฯลฯ”

ที่มา: คอลัมน์รู้ไปโม้ด โดยน้าชาติ ประชาชื่น – “ที่มานามสกุลในประเทศไทย” (http://www.matichon.co.th/youth/youth.php?tagsub=031101&tag950=03you30300649&show=1)

สถิติของเว็บจากกระทู้นามสกุลพระราชทาน

วันนี้เมื่อผมเปิดดูสถิติของเว็บนี้ก็ต้องพบกับความประหลาดใจมาก  เพราะอยู่ดีๆ ตัวเลขคนที่เข้ามาดูเว็บพุ่งกระฉูดขึ้นไปอย่างที่เห็น  ขณะที่เขียนนี่ก็ 262 ครั้งแล้ว  จากปกติที่แทบจะไม่มีใครเข้ามาอ่านเลย

diary-stats.gif

ผมลองค้นไปค้นมาก็พบว่าจำนวนคนที่เข้ามาดูมาจาก mthai.com ที่มีผู้ตั้งกระทู้ถามเกี่ยวกับนามสกุลพระราชทาน ที่มี “ณ” ว่ามีนามสกุลอะไรบ้าง  และน้องคนหนึ่งก็บังเอิญมาพบข้อมูลที่นี่ และได้โพสบอกที่มาไว้ ซึ่งที่จริงแล้วผมก็คัดลอกมาจากเว็บไซต์ของหนังสือสกุลไทยอีกทีหนึ่ง ด้วยกลัวว่าบทความดีๆ เช่นนี้จะหายไป  ต้องขอขอบคุณ คุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์ ที่ได้ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้ได้ทราบกัน

na-topic.jpg

ในกระทู้นั้นมีผู้เข้ามาตอบคำถามมากมาย  ทั้งที่รู้และไม่รู้  ทั้งที่เข้ามาเย้าด้วยการตั้งนามสกุล ณ ทั้งหลายขึ้นมาใหม่ด้วยความสนุกสนาน  อย่างไรก็ตามนามสกุลที่มี ณ นั้นเป็นนามสกุลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เหมาะสมที่จะนำมาล้อเล่นหรือไม่นั้นคงขึ้นอยู่กับวิจารณญานของผู้แสดงความคิดเห็นแต่ละท่านเอง

I C และ T

3-4 วันที่ผ่านมา อยู่ดีๆ ผมก็เข้า blogspot ไม่ได้ ก็ค่อนข้างแปลกใจว่าเกิดอะไรขึ้น  แต่แล้วก็พบว่าอาจจะมีการปิดกั้นไม่ให้เข้าใช้งาน blogspot จากกระทู้หนึ่งในเว็บ Blognone  ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นจริงตามนั้น เพราะลองมาใช้อินเทอร์เน็ตของที่ทำงานก็เข้า blogspot ได้ปกติ

นอกจากนี้ในช่วงเช้าวันนี้ผมก็พบว่าไม่สามารถเปิดเว็บที่ดูเป็นประจำทุกวันได้  หากเป็นเมื่อก่อนผมคงจะสงสัยว่าเน็ตเวิร์คเขาคงมีปัญหากระมัง หรือไม่ก็เซิร์ฟเวอร์เขาคงมีปัญหาแน่ๆ  แต่กลายเป็นว่าความคิดแวบแรกในหัวสมองของผมคือ ตัวอักษร 3 ตัว คือ I C และ T

เว็บนี้โดนเข้าให้แล้วหรือยังไง?  แต่สืบไปสืบมาก็พบว่าไม่ใช่ ปัญหากลับกลายเป็นเรื่องเครือข่ายของเขาที่มีปัญหา  ไม่เกี่ยวกับตัวอักษร 3 ตัวข้างต้นเลย

แต่อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากเปิดเว็บไหนไม่ได้  ผมเชื่อว่าตัวอักษร 3 ตัวนี้คงโผล่เข้ามาในหัวผมอีกอย่างแน่นอนครับ  และอาจจะเหมือนกับโฆษณารณรงค์เกี่ยวกับน้ำมันแกสโซฮอลที่กำลังออกอากาศในปัจจุบัน  ที่น้ำมันแกสโซฮอลกลายเป็นแพะรับบาปในทุกเรื่อง

ดังนั้นต่อจากนี้ไป เวลาเข้าเว็บอะไรไม่ได้ก็โทษตัวอักษร 3 ตัวนี้ก็แล้วกันครับ  อย่างน้อยมีแพะรับบาปแล้วจะได้สบายใจขึ้นบ้าง 😎

Domain name and Web hosting

อ่านบล็อกของคุณ Rachanont เรื่อง “How to have yourname.com blog”  แล้วก็ทำให้นึกถึงการทำเว็บว่าจริงๆ แล้วมีองค์ประกอบอะไรบ้าง  จากมุมมองของผมนั้น คิดว่าน่าแยกออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ

  1. ชื่อโดเมน (Domain name)
  2. พื้นที่เก็บข้อมูลของเว็บ (Web hosting)
  3. ข้อมูลของเว็บ (Web content)

ในแต่ละส่วนก็มีความสำคัญในตัวเอง  เช่นหากพูดถึงชื่อโดเมนแล้วก็จะพบว่ามีบทความมากมายที่เขียนแนะนำว่าลักษณะของชื่อโดเมนที่ดีควรเป็นอย่างไร เช่น ไม่ควรจะยาวเกินไป ไม่ทำให้สับสน จำง่าย เป็นต้น  ชื่อโดเมนที่สื่อถึงเนื้อหาของเว็บเองก็จะมีข้อได้เปรียบมากมาย  ไม่เช่นนั้นคงไม่มีการประมูลขายชื่อโดเมนราคาเป็นล้านๆ   แม้กระทั่งข้อพิพาทการแย่งชิงสิทธิ์ในการครอบครอง หรือการขู่กรรโชคทรัพย์โดยใช้ชื่อโดเมนก็มีเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย

พื้นที่เก็บข้อมูลของเว็บนั้นก็คือ พื้นที่ในฮาร์ดดิสก์ของเซิร์ฟเวอร์ (มักจะเรียกเซิร์ฟเวอร์ที่ให้บริการชนิดนี้ว่า เว็บเซิร์ฟเวอร์) หรือเครื่องคอมพิวเตอร์บนเครือข่าย ซึ่งเราจะนำเอาข้อมูลของเว็บเราเข้าไปเก็บไว้  เพื่อให้ใครต่อใครมาเปิดอ่านนั่นเอง

domain_webhosting1.gifดังนั้นขนาดของพื้นที่และข้อมูลของเว็บก็จะต้องสัมพันธ์กัน  ผู้ทำเว็บก็จะต้องรู้ว่าปริมาณข้อมูลเว็บของตัวเองมีขนาดเท่าใด  แล้วก็จึงพิจารณาเลือกขนาดของพื้นที่ที่เหมาะสม โดยอาจจะต้องประมาณพื้นที่เผื่อไว้ในอนาคตด้วย  ทั้งนี้จะต้องทำการประมาณให้พอเหมาะพอดี  เพราะการเลือกขนาดของพื้นที่ที่มากเกินไปก็จะทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่นั่นเอง

ผู้ให้บริการเช่าพื้นที่เว็บนั้นมีมากมายจนเลือกไม่ถูกทั้งที่อยู่ในและนอกประเทศ  ข้อดีที่สุดของผู้ให้บริการที่อยู่ประเทศก็คือ ความเร็วของการเรียกดูเว็บจากคนที่อยู่ภายในประเทศจะเร็วมาก  เหมาะสำหรับเว็บไซต์ที่มีกลุ่มลูกค้าอยู่ในประเทศเป็นหลัก

แต่ขอร้องว่า กรุณาอย่าเข้าใจว่าเลือกใช้บริการในประเทศกับผู้ให้บริการที่เป็นคนไทย  พูดภาษาไทยด้วยกันแล้ว ทำอะไรมันจะง่ายเหมือนปลอกกล้วยเข้าปาก   เพราะอาจจะไปเจอผู้ให้บริการที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย บริการดีก็เฉพาะก่อนจ่ายตังค์  พอจ่ายตังค์ไปแล้วก็เป็นอีกอย่าง  เรื่องแบบนี้อาจจะต้องมีการสืบเสาะหาข้อมูลก่อน   ซึ่งบางทีแล้วแต่ดวงด้วยเหมือนกัน

แม้แต่บริษัทใหญ่ที่ดูน่าเชื่อถือมาก ทำธุรกิจครบวงจร ตั้งแต่รับฝากเว็บไซต์ ออกแบบและจัดทำเว็บไซต์  มีทีมงานพัฒนาเว็บไซต์ แต่ก็มีลูกเล่นแพรวพราว  ที่เจอมากับตัวเองก็คือ ตอนที่นำเสนอโครงการนั้นบอกว่าจะทำการพัฒนาโปรแกรมขึ้นมาเองทั้งหมด อธิบายส่วนต่างๆ ได้เป็นฉากๆ  แต่เมื่อส่งมอบงานกลับนำโปรแกรมโอเพ่นซอร์สมาดัดแปลง แล้วนำมาส่งมอบหน้าตาเฉย   🙁

สำหรับผู้ให้บริการพื้นที่เว็บของต่างประเทศนั้นก็มีมาก  ซึ่งการค้นหาข้อมูลว่าผู้ให้บริการรายใดมีคุณภาพดีและน่าเชื่อถือนั้นหาได้ง่ายกว่ามาก  เพียงแต่คุณต้องขยันอ่านรีวิวของผู้ใช้ตามเว็บบอร์ดต่างๆ  ผมเคยใช้บริการมาแล้วหลายแห่ง  แต่ละแห่งที่เลือกนั้นมีระดับคุณภาพการให้บริการดีเยี่ยมในระดับมืออาชีพ

มาถึงตอนนี้ สมมติว่าเราได้เลือกขนาดพื้นที่ที่ต้องการไว้แล้ว และขณะเดียวกันเราก็ชื่อได้ชื่อโดเมนที่ต้องการแล้วด้วยเช่นกัน   ปัจจุบันผู้ให้บริการเช่าพื้นที่เว็บทุกรายจะมีบริการจดชื่อโดเมนด้วย  บางรายก็ถือเป็นแพ็คเกจเช่าพื้นที่และแถมชื่อโดเมนไปพร้อมกัน  ซึ่งที่จริงแล้วนั้นเราสามารถที่จะแยกทำการจดชื่อโดเมนด้วยตัวเองต่างหากได้  แล้วจึงนำชื่อโดเมนของเราไปใช้ร่วมกับผู้ให้บริการพื้นที่เว็บที่เราเลือกไว้แล้ว

การใช้บริการจดชื่อโดเมนของผู้ให้บริการเช่าพื้นที่เว็บนั้น ก็อาจสะดวกรวดเร็วในการดำเนินการ แต่อาจมีปัญหาเกิดขึ้นเมื่อคุณเกิดเปลี่ยนใจไม่อยากที่จะใช้บริการเช่าพื้นที่ของเขาต่อ   เพราะหากไม่เคยทำมาก่อนแล้วการย้ายโดเมนหรือแก้ไขข้อมูลของโดเมนนั้นอาจไม่ง่ายนัก  

ยิ่งหากคุณไปเจอผู้ให้บริการที่บริการห่วยๆ  โดยไม่ยอมให้สิทธิ์คุณเข้าไปปรับแก้ข้อมูลของโดเมนของตัวเองเลยนั้น  ก็ถือเป็นโชคร้าย  ทั้งๆ ที่ขั้นตอนต่างๆ ไม่ได้ยุ่งยาก  แต่ปัญหาอยู่ที่ผู้ให้บริการที่ไม่อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการเท่านั้นเอง

เมื่อจดชื่อโดเมนแล้ว  คุณควรจะทำการขอรหัสผ่าน สำหรับเข้าไปแก้ไขข้อมูลของโดเมนด้วย  ก็ในเมื่อชื่อโดเมนเป็นของคุณ ทำไมคุณจะมีรหัสผ่านของโดเมนนั้นไม่ได้ และควรจะรู้ไว้ว่าผู้ให้บริการเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นนายหน้า ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทรับจดโดเมนที่เป็นนายทะเบียนในต่างประเทศอีกที 

คุณสามารถตรวสอบรายชื่อของนายทะเบียน (registrar) ได้ที่นี่ http://www.icann.org/registrars/accredited-list.html  (ลองมองหาชื่อประเทศไทยสิ มีไหม?)

กรณีที่คุณจดชื่อโดเมนเองผ่านทางบัตรเครดิต ซึ่งสามารถดำเนินการได้ภายใน 5-10 นาที  โดยเมื่อคุณได้ชื่อโดเมนและมีชื่อเว็บไซต์ที่ต้องการแล้ว เช่น www.abc123.com  คุณจะนำเอามันไปโยงเข้ากับพื้นที่เว็บที่ผู้ให้บริการพื้นที่จัดไว้ให้ได้อย่างไร?  คำตอบก็คือคุณจะต้องแก้ไขข้อมูลของ name server ของโดเมนให้เป็นไปตามค่าที่ผู้ให้บริการเช่าพื้นที่แจ้งให้คุณทราบ

domain_webhosting2.gif

name server จะทำหน้าที่ในการแปลงชื่อของเว็บไซต์ ให้เป็นหมายเลข IP Address ของเว็บเซิร์ฟเวอร์ที่คุณนำข้อมูลของเว็บไซต์ไปฝากไว้   เมื่อได้หมายเลข IP Address แล้ว การติดต่อกันระหว่างบราวเซอร์และเซิร์ฟเวอร์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตก็จะสามารถเกิดขึ้นได้

ดังนั้น แต่ละชื่อโดเมนก็จะต้องมี name server ประจำตัวของมัน  ไม่เช่นนั้นชื่อโดเมนของคุณก็จะไม่สามารถใช้งานได้   ซึ่งที่จริงแล้วคุณอาจไปใช้บริการ name server ที่บริษัทรับจดชื่อโดเมนได้จัดบริการส่วนนี้ไว้ให้อยู่แล้วก็ได้  เช่น www.enom.com และ www.onlinenic.com  

นอกจากนี้คุณจะอาจจะหันไปใช้บริการ name server ของผู้ให้บริการค่ายอิสระที่มีทั้งเสียค่าใช้จ่ายและบริการฟรี เช่น www.zoneedit.com และ www.mydomain.com ก็ได้เช่นกัน  แต่ทั้งนี้จะต้องมีความเข้าใจในเรื่องของระบบของชื่อโดเมนด้วย

เมื่อคุณสามารถที่จะเข้าไปแก้ไขข้อมูลต่างๆ ของชื่อโดเมนได้ด้วยตัวเองแล้ว  การที่จะเปลี่ยนผู้ให้บริการพื้นที่เว็บก็สามารถทำได้อย่างง่ายดาย  เพราะทันทีที่คุณทราบ name server ของผู้ให้บริการรายใหม่  คุณก็สามารถเข้าไปแก้ไข name server ได้ทันที  

domain_webhosting3.gif

ทั้งนี้อาจจะต้องรอให้ข้อมูลมีการอัพเดท ซึ่งโดยทั่วไปก็จะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมงครับ 🙂

ป.ล. ราคาค่าบริการเช่าพื้นที่เว็บของ Cyberbeing.biz ได้ปรับลดลงมาแล้วครับ 😉

ดูแลสุขภาพกันหน่อย

ผมทดลองทำ script ให้แสดงสุขภาพของเซิร์ฟเวอร์แบบคร่าวๆ โดยจัดระดับไว้ดังนี้

cool.gif เจ๋ง!
a.gif สบายๆ
b.gif OK เลย
c.gif หือออ…
d.gif โอ้ววว
e.gif งานเยอะจัง
f.gif อูยยย
g.gif แง๊ๆๆ

ตอนนี้ลองเอา script มาแปะไว้ด้านบนสุด ถ้าใช้งานได้จะได้เอาไปใช้จริงเลย 😉

แก้ปัญหาส่งอีเมลเข้า hotmail ได้แล้ว!

หลังจากที่พยายามแก้ปัญหาการส่งอีเมลไปยัง xxx@hotmail.com มานานนับเดือน ล่าสุดที่ผมได้เพิ่ม SPF record และทำการทดสอบก็ยังส่งอีเมลไม่ได้นั้น ในที่สุดวันนี้ผมก็แก้ปัญหาได้แล้ว ด้วยการทดสอบเปลี่ยน IP Address ของเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งกว่าจะมาถึงขั้นนี้ได้นั้น ก็ต้องยื่นคำขาดกับบริษัทที่ผมใช้บริการอยู่ เพราะหากเขาไม่ยอมประสานงานกับทาง ISP แล้ว ยังไงก็คงไม่สามารถแก้ปัญหาได้

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้ติดต่อให้ทางบริษัท ให้ช่วยประสานงานกับ ISP เพื่อทำ IP reverse mapping ให้ แต่ก็ผ่านมาหลายสัปดาห์แล้วยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

หากประเมินการให้บริการต่างๆ ของบริษัทนี้ผมถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแย่ เพราะแม้กระทั่งระบบจัดเก็บค่าบริการ colocation ที่ผมทวงบอกให้ส่งใบแจ้งหนี้มาให้สักทีนั้นก็ลำบากยากเย็น และเมื่อได้รับใบแจ้งหนี้ก็เป็นใบแจ้งหนี้ที่มีข้อผิดพลาด เพราะคำนวณค่าบริการเกินไป 1 เดือน

ผมไม่ทราบว่าบริษัทนี้เป็นบริษัทลูกของอีกบริษัทหนึ่งที่มีชื่อเสียงว่ายอดแย่ และเมื่อทราบก็ค่อนข้างตกใจ อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหาอะไร นอกจากส่งอีเมลเข้า hotmail.com ไม่ได้นี่แหละครับ ซึ่งหากในอนาคตเขายังบริการผมไม่ดี ก็อาจจำเป็นที่จะต้องพิจารณาหาที่อยู่ใหม่

ถึงวันนี้จะส่งอีเมลเข้า hotmail.com ได้แล้วนั้น ผมก็ยังไม่แน่ใจนักว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะวันข้างหน้าอาจจะโดนแบนเข้าให้อีกก็เป็นได้ ซึ่งจากบริการที่ได้รับเช่นนี้ผมคงต้องมานั่งปวดหัวอีกครั้งก็เป็นได้ 🙁

Sony? Oh no!

จากประสบการณ์การทำแผ่นไดรเวอร์หายของผม  ทำให้ผมรู้ว่าแผ่นไดรเวอร์นั้นมีความสำคัญและสร้างความเดือดร้อนให้ได้ขนาดไหนถ้ามันหายไป   นอกจากนี้ผมพบว่าระบบการจัดเก็บแผ่นไดรเวอร์ต่างๆ ของผมเองยังไม่ดีนัก  เพราะยังมีโอกาสที่จะหายได้อีก  ยังไม่นับรวมไปถึงแผ่นไดรเวอร์ของอุปกรณ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ยี่ห้อ Sony ด้วย

ผมไม่เถียงว่านี่คือความรับผิดชอบตรงของผู้บริโภคที่จะต้องเก็บรักษาแผ่นไดรเวอร์ไว้ให้ดี  แต่โอกาสที่จะสูญหายมันก็เกิดขึ้นได้  แน่นอนว่าไม่มีใครอยากจะทำของหายหรอก  อันที่จริงแล้วนอกจากการสูญหาย  การเก็บรักษาแผ่นซีดีที่ไม่ดี  ลักษณะการใช้แผ่นซีดีแบบไม่ถูกวิธี  ทำให้แผ่นมีรอยขีดข่วนจนใช้ไม่ได้ ก็เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งของผู้ใช้  ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะต้องติดต่อขอรับแผ่นใหม่จากผู้ขาย

ในเว็บของ Sony เองก็มีบริการให้ดาวน์โหลดโปรแกรมเหมือนกัน  แต่จะเป็นลักษณะของการ update ตัวโปรแกรมที่ผู้ใช้มีอยู่ในมือแล้ว  คือคุณต้องได้รับโปรแกรมแผ่นต้นฉบับ ที่มีมาพร้อมกับผลิตภัณฑ์  และคุณจะต้องเก็บรักษามันให้ดีที่สุด  หากโปรแกรมนั้นมีการปรับปรุงพัฒนาเป็นเวอร์ชันใหม่  ยังไงเสียคุณก็ต้องลงมันตั้งแต่เวอร์ชันแรกสุด  แล้วค่อยไล่ลงตัวเวอร์ชันปรับปรุง มันมาเรื่อยๆ จนถึงตัวล่าสุด

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเครื่องพิมพ์ของบริษัท Hewlett Packcard (HP) ซึ่งก็ต้องใช้ไดรเวอร์ในการติดตั้งเช่นกัน  บ่อยครั้งในที่ทำงานของผมที่ไม่รู้ว่าแผ่นไดรเวอร์นั้นตกไปอยู่กับใคร  เราก็ยังคงทำการติดตั้งไดรเวอร์ได้ เพราะหากทราบชื่อรุ่นแล้ว ก็จะสามารถเข้าไปโหลดไดรเวอร์จากเว็บของ HP มาติดตั้งใช้งานได้ทันที

ประสบการณ์ตรงของเพื่อนผมอีกคนหนึ่งที่หอบหิ้วเครื่อง Vaio ของ Sony กลับมาจากต่างประเทศด้วย  และบังเอิญที่แผ่นไดรเวอร์ก็หายไปในระหว่างการเก็บย้ายข้าวของหลายครั้ง  เขาเองก็ได้พยายามเข้าเว็บของ Sony ที่เป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งก็ไม่พบว่ามีที่ให้ดาวน์โหลดโปรแกรมไดรเวอร์แต่อย่างใด  พบแต่โปรแกรมรุ่นปรับปรุงที่ต้องอาศัยแผ่นต้นฉบ้บเช่นกัน

ผมไม่ได้อยากจะกล่าวหาบริษัท Sony แต่สงสัยและข้องใจเรื่องความยุ่งยากในการได้มาซึ่งแผ่นไดรเวอร์  ผมเองก็อยากรู้ว่าบริษัทอื่นๆ มีนโยบายการดำเนินการอย่างไรใน หากผู้ใช้ต้องการขอรับแผ่นไดรเวอร์ของอุปกรณ์นั้นๆ  อีกครั้ง

สรุปแล้วสิ่งที่ผู้ใช้ควรตระหนักเมื่อซื้ออุปกรณ์ต่างๆ มาใช้งาน  หากมีแผ่นไดรเวอร์มาด้วย ก็ควรจะดำเนินการต่อไปนี้

  1. ต้องมีวิธีการเก็บรักษาแผ่นไดรเวอร์ที่ดี  ยิ่งหากมีแผ่นไดรเวอร์ของอุปกรณ์หลายอย่าง ก็ควรจะมีการเขียนรายละเอียดระบุลงไปบนแผ่นเลยว่าเป็นไดรเวอร์ของอุปกรณ์อะไร เพื่อป้องกันการสับสน และควรมีการจัดเก็บให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อง่ายต่อการจัดเก็บและค้นหา
  2. ควรจะทำการสำเนาแผ่นไดรเวอร์ไว้ทันที และแยกเก็บไว้เป็นชุดสำรองต่างหาก  (แผ่นซีดีเปล่าเดี๋ยวนี้ราคาไม่กี่บาท)  ทั้งนี้หากเป็นแผ่นไดรเวอร์ของ Sony ก็ควรทำสำรองไว้หลายๆ แผ่น  เผื่อจะเอาไปประกาศขายในเว็บตัดราคาแผ่นต้นฉบับที่ราคาแผ่นละ 1500 ได้ด้วย (หึหึ 😆 )

หากจำเป็นที่จะต้องติดต่อสอบถามเพื่อขอรับแผ่นไดรเวอร์จากบริษัท  ผู้ใช้ก็จะต้องเตรียมชื่อและรุ่นของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ให้พร้อมก่อนทำการติดต่อไป   ทั้งนี้หากเป็นบริษัทโซนี่ก็ควรจะติดต่อไปที่แผนกอะไหล่โดยตรง  ห้ามโทรไปที่ Customer contact center  เป็นอันขาดเพราะเพนักงานจะออกอาการหงุดหงิดรำคาญที่คุณไม่รู้เรื่องรู้ราวและโทรไปผิดที่   😆

อย่างไรก็ตามนี่เป็นประสบการณ์ส่วนตัวของผม  ท่านที่ชื่นชอบและเป็นสาวกของ Sony ผมต้องขออภัยไว้ด้วย  และหลังจากนี้ผมจะเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ของยี่ห้ออื่นๆ  ผมใช้อะไรของ Sony บ้าง ลองดูนะครับ

  • Sony Digital Camera DSC S85 (ให้ที่บ้านไปแล้ว)
  • Sony Clie PEG-TH55 (หลังจากซื้อมาแล้วก็เลิกผลิต Clie ทันที,  แผ่นไดรเวอร์ยังอยู่ อยากขายต่อ แต่คงไม่มีใครอยากได้)
  • Sony Handycam mini-DV (รอยกให้น้อง)
  • Sony Ericsson mobile phone + radio handfree (รอทิ้ง)

Bye-bye Sony!

Sony? No more!

โดยปกติผมจะเก็บรักษาแผ่นของไดรเวอร์ของอุปกรณ์ต่างๆ แยกไว้อย่างดี   แต่คราวผมหาแผ่นไดรเวอร์ของกล้อง Handycam ของ Sony ไม่เจอ   หายังไงก็ไม่เจอ  ของหายมันก็คือของหาย  นึกยังไงก็นึกไม่ออกว่ามันหายไปได้ยังไง  (ถ้านึกออก มันก็คงไม่หาย ถูกไหมครับ)

เมื่อหาไม่เจอก็ลองค้นหาในเว็บของ Sony ดูก่อน  ก็ได้คำตอบว่าให้ติดต่อกับศูนย์บริการของโซนี่  ไม่สามารถดาวน์โหลดได้ผ่านทางเว็บ  ซึ่งผมลองค้นดูแล้วก็ไม่จริงๆ   ผมเลยเข้าไปหาเบอร์โทรของศูนย์บริการในเว็บ Sony ก็ได้เบอร์ของ Customer Contact Center มา  พอโทรเข้าไปก็ปรากฎว่าเป็นเครื่องตอบรับอัตโนมัติ  ผมก็กดตามไปเรื่อยๆ และไม่รู้ว่าต้องติดต่อไปแผนกไหน  เลยลองเข้าไปที่เบอร์ฝ่ายช่วยอธิบายการใช้ผลิตภัณฑ์

ผมอธิบายว่าผมทำไดร์เวอร์ของกล้องหายไปนะ พนักงานถามผมกลับมาว่าลงโปรแกรมไว้ในเครื่องหรือยัง  ผมก็ลองว่าลงไปแล้ว  แต่เครื่องคอมพิวเตอร์มันมีปัญหาต้องลงโปรแกรมใหม่อีกครั้ง  เขาก็เลยถึงบางอ้อ  บอกว่าผมต้องติดต่อไปที่ศูนย์อะไหล่  และให้เบอร์โทรมาใหม่

ผมคงจะโทรไปผิดแผนกกระมัง  เขาเลยดูมีอารมณ์หงุดหงิดในน้ำเสียงของการให้บริการ  😡  แหม… ก็ผมไม่เคยทำของแผ่นไดรเวอร์ของ Sony หาย มาก่อน จะรู้ได้อย่างไรว่าต้องทำยังไงบ้าง 😐

ผมโทรไปที่ศูนย์อะไหล่  พนักงานก็ช่วยบริการค้นหาและให้ข้อมูลอย่างรวดเร็วจนตามแทบไม่ทัน  แต่เขาให้เบอร์ part no. มาด้วย   ในการสั่งซื้อผมต้องเดินทางไปสั่งและเดินทางไปรับของเอง  ซึ่งศูนย์ฯ ที่ผมได้เบอร์มานั้นอยู่บริเวณวิภาวดี ซึ่งไม่สะดวกกับผมนัก ผมจึงต้องติดต่อไปศูนย์ฯ ที่หลักสี่  เพราะอยู่ใกล้มากกว่า  ผมจึงโทรไปสอบถามที่ศูนย์ฯ หลักสี่อีกครั้ง  ก็ได้คำตอบมาเช่นเดิมคือผมต้องเดินทางไปสั่งและต้องรอรับของในอีกสัปดาห์ถัดไป

1,500 บาท คือค่าใช้จ่ายของซีดีไดรเวอร์แผ่นนี้   😯   ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสั่งซื้อและไปรับของ  ผมเข้าใจแล้วว่าทำไมถึงไม่มีให้ดาวน์โหลดในเว็บของ Sony  แต่เดี๋ยวคืนนี้ผมจะไปรื้อห้องหาแผ่นไดรเวอร์แสนแพงนี้อีกครั้ง   เจอเมื่อไหร่จะทำสำเนาเก็บไว้สักสองสามแผ่น  ว่าแต่ขอให้เจอที่เถอะ  สาธุๆๆ